ปรัชญาศิลปะ

ศ.กีรติ บุญเจือ…

ปรัชญาศิลปะนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิชาสุนทรียศาสตร์ แต่ถ้ามองจากมุมมองของนิยามที่เหนือขึ้นไปอีกของปรัชญาประยุกต์ซึ่งถือเอาผลสรุปของความรู้ต่าง ๆ มาคิดต่อยอดอย่างปรัชญา ปรัชญาศิลปะจึงเป็นการนำเอาสุนทรียศาสตร์สาขาอื่น ๆ ทั้งหมด ได้แก่ ประวัติศาสตร์ศิลปะ วิจารณ์ศิลปะ ทฤษฎีศิลปะ จิตวิทยาศิลปะ สังคมวิทยาศิลปะ มาเป็นข้อมูล พยายามค้นหาคำถามที่อาจจะมีได้จากข้อมูลเหล่านั้น แล้วตีความปัญหาดังกล่าวด้วยระบบปรัชญาบริสุทธ์เท่าที่เราทราบหรือสนใจ สุนทรียศาสตร์จึงเป็นฐานรองรับปรัชญาศิลปะนั่นเอง

องค์ประกอบของศิลปะ มี 4 อย่าง คือ

  1. สื่อ (media) ได้แก่ สิ่งที่ศิลปินนำมาใช้เพื่อถ่ายทอดการสร้างสรรค์ของตนให้ประจักษ์แก่ผู้อื่น เช่น ผ้าใบและสีสำหรับจิตรกรรม หินอ่อนสำหรับประติมากรรม คำพูดสำหรับกวีนิพนธ์
  2. เนื้อหา (content) ได้แก่ เรื่องราวที่ศิลปินแสดงออกมา โดยใช้สื่อที่เหมาะสม
  3. สุนทรียธาตุ (aesthetical elements) มีได้ 3 อย่างคือ ความงาม (beauty) ความแปลกหูแปลกตา (picturesqueness) และความน่าทึ่ง (sublimity)
  4. ธาตุศิลปิน (artistic elements) ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิดและชีวิตจิตใจ รวมทั้งความหลังและความใฝ่ฝันของศิลปินที่แฝงอยู่ในศิลปกรรมที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมา ธาตุเหล่านี้ศิลปินอาจจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจะสอดแทรกเข้าไปก็ได้ แต่จะมีสอดแทรกอยู่เสมอ เช่น ความเคารพ หรือความรู้สึกเหยียดหยามที่ศิลปินมีต่อบุคคลที่เขากำลังวาดอยู่ จะสอดแทรกเข้าในศิลปกรรมชิ้นนั้นด้วย
  • การที่คนใดคนหนึ่งมีสุนทรียธาตุในความสำนึก เราเรียกว่ามีประสบการณ์ทางสุนทรียศาสตร์ (aesthetical experience)
  • ศิลปกรรมชิ้นหนึ่ง ๆ อาจจะมีสุนทรียธาตุเพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างผสมกันก็ได้ เช่น พระพุทธรูปอาจจะมีทั้งความงามและความน่าทึ่งปนกัน ภาพต้นโอ๊กอาจจะมีทั้งความงาม ความแปลกหูแปลกตาและความน่าทึ่งรวมอยู่ในภาพเดียวกันก็ได้ นอกจากนั้นสิ่งของตามธรรมชาติซึ่งมิได้เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ก็มีสุนทรียธาตุเหล่านี้ได้ด้วย
  • ลัทธิศึกษิตนิยม (classicism) เห็นความงามในธรรมชาติว่าเป็นผลงานศร้างสรรค์ตามกฎสมภาค (symmetry) และกฎสมดุลยภาค (balance) ศิลปินก็อาจจะสร้างสรรค์ศิลปกรรมได้โดยเลียนแบบธรรมชาติ (ลต. Ars imitatur naturam = Art imitates nature.) ต่อมาเกิดลัทธิโรแมนติค (romanticism) ที่คิดว่า ความงามตามธรรทชาติเห็นจนน่าเบื่อหน่ายแล้ว ศิลปินควรคิดสร้างสรรค์โดยการสร้างงานสุนทรีให้แปลกหูแปลกตาไปจากที่เห็นจำเจในธรรมชาติ เรียกว่าสุนทรียภาพประเภทความแปลกใหม่ (picturesque element) ต่อมามีผู้สามารถผสมผสานความสุนทรีสูงสุดกับความดีสูงสุดและแสดงออกเป็นศิลปกรรมได้ อย่างเช่นประติมากรรมหินอ่อน La Pieta โดยไมเขิ้ลแอนเยโล (Michelangelo) เรียกสุนทรียธาตุนี้ว่าธาตุซาบซึ้งสุนทรีย์หรือความทึ่ง (sublimity)
  • ความงามแและความแปลกหูแปลกตาหรือความแปลกใหม่เกิดขึ้นเป็นอารมณ์ในระดับการดำรงชีวิตเรียกว่าการดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด (struggle for living) ทำได้สำเร็จก็มีความสุขระดับพืช ความซึ้งในความแปลกใหม่ให้ความสุขจากการได้ตอบสนองสัญชาตญาณจากสิ่งสุนทรีในระดับสัญชาน (perception) ผ่านทางผัสสะทั้ง5 เรียกว่ามีอารมณ์สุนทรี (aesthetical temperament) ส่วนความซึ้งสุนทรีอันเป็นผลจากการได้ตอบสนองสัญชาติญาณจากสิ่งสุนทรีในระดับปัญญาเรียกว่าเพทนาการสุนทรี (aesthetical sentiment)ที่ให้ความสุข ความซึ้งสุนทรีระดับสูงสุดเกิดขึ้นเมื่อความงามสูงสุดพบกับความดีสูงสุดอย่างลงตัว (สมดุลหรือสมมาตร) และมีความสุขสูงสุด เรียกว่าความซาบซึ้ง (sublimity)

La Pieta

งานประติมากรรมสลักสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา ทำขึ้นโดย Michelangelo ระหว่างปี ค.ศ. 1498-1499 และตั้งอยู่ในมหาวิหารนักบุญเปโตร  นครรัฐวาติกัน ผลงานชิ้นนี้แสดงร่างกายของพระเยซู บนตักของมารีย์ ผู้เป็นมารดา หลังจากการตรึงที่กางเขน  การตีความ ปีเอตะ (ความสงสาร) ของ Michelangelo นับเป็นเรื่องใหม่ในงานประติมากรรมของอิตาลี โดยถูกนับว่าเป็นงานชิ้นสำคัญที่คงความสมดุลระหว่างอุดมคติของความงามในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและธรรมชาตินิยม

ศิลปะคืออะไร คำนี้เป็นอีกคำหนึ่งที่นิยามได้ยากมาก ได้มีผู้เสนอคำนิยามขึ้นมากมายด้วยกัน แต่ละนิยามจะเน้นด้านใดด้านหนึ่งที่ผู้นิยามเห็นว่าสาคัญที่สุด เปรียบเทียบกันดูแล้วก็พอจะสรุปความเห็นรวม ๆ ได้ว่า งานศิลปะต้องเป็นงานสร้างสรรค์ ไม่ใช่มีมาเองหรือเป็นไปเอง สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติมีอยู่มากมายที่งดงาม แปลกหูแหลกตาและน่าทึ่ง ถ้าถือว่ามีผู้สร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้นขึ้นมาก็นับได้ว่าเป็นศิลปกรรม แต่ถ้าถือว่ามีมาเองไม่มีผู้ใดสร้างสรรค์ก็ไม่น่าเป็นศิลปกรรม นอกจากนั้นการสร้างสรรค์ศิลปกรรมจะต้องแสดงอะไรบางอย่างของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่าศิลปินผู้นั้นจะต้องการสื่อสารถึงผู้อื่นหรือไม่ก็ตาม

Leave a comment