Leibniz, Gottfried Wilhelm

leibniz

Leibniz, Gottfried Wilhelm ไลบ์นิซ

ผู้แต่ง : รวิช ตาแก้ว
ผู้ปรับแก้ : กีรติ บุญเจือ

Gottfried Wilhelm Leibniz ไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm Leibniz 1646-1716) เป็นชาวเยอรมัน ชอบอ่านหนังสือปรัชญา กรีก และละตินตั้งแต่อายุ 13 ขวบ เข้ามหาวิทยาลัยอายุ 15 ปีเรียนปรัชญา คณิตศาสตร์ และกฎหมาย อายุ 30 ปีค้นพบคณิตศาสตร์แขนง Infinitesimal Calculus ได้เป็นประธานบัณฑิตยสภาแห่งปรัสเซียคนแรก พยายามหาทางรวมนิกายต่าง ๆ ของคริสตศาสนา มีความคิดและวางแผนรวมยุโรปเป็นสหภาพ สนับสนุนมิสชันนารีเยสุอิตในประเทศจีนให้ใช้จารีตประเพณีพื้นเมือง หนังสือที่สำคัญได้แก่ ว่าด้วยศิลปะการประกอบความคิด (On the Combinatory Art., 1666) โมนาดวิทยา ( The Monadology, 1714)

ไลบ์นิซเห็นว่าธรรมชาติมีระเบียบเรียบร้อยกลมกลืนกันทุกอย่างตามลัทธิสุทรรศนนิยม (optimism) เหมือนนาฬิกาซึ่งกลไกทุกส่วนเดินตามกฎเกณฑ์ของมัน “ธรรมชาติเป็นนาฬิกาของพระเจ้า (Nature is the clock of God)”

สเพอโนเซอเอาความคิดของเดการ์ตมาหาความจริงแบบเรขาคณิต แต่ไลบ์นิซหาแบบพีชคณิต ท่านให้วิจัยความคิดแตกออกจนได้มโนคติที่ย่อยที่สุดจนนิยามไม่ได้ (Simple or indefinable ideas) ซึ่งจะเปรียบได้กับตัวอักษร (The alphabets of human thoughts) คราวนี้ใช้สัญลักษณ์แทนลงไป แล้วหากฎร่วมของการรวมมโนคติย่อยเข้าเป็นมโนคติซ้อนเหมือนที่เราทำกับกฎพีชคณิต เช่น (a+b) (a-b) = a2-b2 หวังว่าเมื่อได้กฎแน่นอนแล้ว เราจะพบความจริงใหม่ ๆ อีกมากมาย นับว่าเป็นผู้ริเริ่มวิชาตรรกวิทยาสัญลักษณ์ (Symbolic Logic) ด้วย ท่านได้วางแผนจะทำสารานุกรมรวมความรู้ของมนุษย์ (A Comprehensive Encylopedia of Human Knowledge) ขึ้นโดยเริ่มจากมโนคติย่อยที่สุดดังกล่าว แต่ไม่ได้ทำ โปรดอย่าปนกันกับ L’Encyclopédie ของดีดโรต์ (Diderot)

ท่านคิดว่าปรัชญาที่แท้จริงไม่มีเพียงระบบเดียว แต่รวมความจริงของทุกระบบเข้าด้วยกัน เพราะต่างระบบก็แสดงความจริงในแง่ต่าง ๆ กัน ประวัติปรัชญาจึงแสดงวิวัฒนาการของความคิดซึ่งเติบใหญ่ขึ้นตามสมัย

ไลบ์นิซไม่ได้รวบรวมความคิดเป็นระบบขึ้นมาอย่างสเพอโนเซอ จึงมีการถกเถียงกันมากเกี่ยวกับความคิดแท้ ๆ ของท่าน

Leave a comment