การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นศาสนากระบวนทรรศน์หลังนวยุค

พ.อ. ดร.ไชยเดช แก่นแก้ว

ชีวิตมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความทุกข์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นความเป็นจริงของทุกชีวิต และยังมีความทุกข์อื่น เช่น การประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นทุกข์ ความทุกข์ทั้งทางกายภาพและความทุกข์ในจิตใจล้วนเกิดอยู่รายล้อมมนุษย์ แล้วมนุษย์มีความสุขได้อย่างไร ทั้งนี้ การติดยึดในตัวตนเป็นพื้นฐานของความทุกข์ทั้งปวง แต่ชีวิตมนุษย์ก็ไม่น่าจะเกิดมาเพื่อทุกข์ มนุษย์จึงน่าจะมีความสุขมากกว่านี้

ความสำเร็จในชีวิตด้านต่างๆ น่าจะนำมาซึ่งชีวิตที่มีความสุขทั้งกายและใจ แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ก็พบว่ามีความทุกข์ตามมาอยู่นั่นเอง  คนส่วนใหญ่ในโลกขณะนี้ต่างก็พากันไม่แน่ใจแล้วว่าอะไรกันแน่ที่จะทำให้มีความสุข มนุษย์ย่อมปรารถนาความเปลี่ยนแปลงหากว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ในอำนาจของมนุษย์เองหรือสอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์เอง มนุษย์ต้องการสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ  แต่มนุษย์ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ และต่างคิดถึงอนาคตด้วยใจที่เป็นทุกข์  คำถามที่สำคัญสำหรับมนุษย์ทุกคนที่พยายามขวนขวายหาความสุขที่สมดุลในแต่ละแบบก็คือ มนุษย์ควรให้น้ำหนักกับความสุขแท้แบบใดมากกว่ากันและการใช้เวลาไปกับวิถีชีวิตแบบใดที่จะทำให้มนุษย์ได้มาซึ่งความสุขแท้

การพัฒนาคุณภาพชีวิตมีรากฐานอยู่ที่ปรัชญาปฏิบัตินิยมที่ให้ความสนใจอย่างมากต่อการปฏิบัติหรือการลงมือกระทำ โดยเน้นการนำความคิดให้ไปสู่การกระทำ  การดำรงชีวิตที่ดีต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดที่ดีและการกระทำที่เหมาะสม เน้นการได้เรียนรู้จากการลงมือทำ (learning by doing) อีกทั้งยังเน้นความสำคัญของประชาธิปไตย จริยธรรม ศาสนา และศิลปะอีกด้วย เพื่อให้มนุษย์ได้รับประสบการณ์และเรียนรู้จากการคิด การลงมือทำและการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

นักปรัชญาหลังนวยุคขยายผลแนวคิดปรัชญาของตน ซึ่งเดิมเป็นข้อคิดกระจัดกระจายกลายเป็นขบวนการที่มีเป้าหมายชัดเจนยิ่ง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นทั้งคำสอนและแนวปฏิบัติในขณะเดียวกันตามรูปแบบของศาสนา แต่เป็นศาสนาที่ไม่กำหนดข้อเชื่อเรื่องโลกหน้า จึงสามารถใช้เป็นฐานเสริมได้สาหรับทุกศาสนาที่ต้องการพัฒนาวิธีการอบรมสั่งสอนศาสนาของตนให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่ง ๆ ขึ้น (กีรติ บุญเจือ, 2556) กระแสหลังนวยุคสายกลางจึงพัฒนาขึ้นโดยเห็นว่ามนุษย์ควรลงมือปฏิบัติจริง โดยเน้นการมีหลักยึดเหนี่ยวแต่ไม่ยึดติด  ปล่อยให้สมรรถนะคิดทำงาน ด้วยพลังสร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา ทุกขั้นตอนทำอย่างมีความสุขแท้ตามความเป็นจริง  คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตเรื่อยไป  พัฒนาถึงขั้นใดก็จะเล็งเห็นด้วยสัญชาตญาณว่าควรทำอะไรและอย่างไรต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องมีคนบอก  เขามีความสุขที่จะทำมัน  เมื่อทำแล้วก็มีความสุขและรู้ว่าทำอะไรต่อไปแล้วจะมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้น

กระแสคิดนี้เข้ากันได้ดีกับคนที่ไม่นับถือศาสนา เพราะเขาสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้โดยไม่ต้องคิดถึงสวรรค์  เพราะหากมีสวรรค์ที่ไหนก็จะได้รับการต้อนรับอย่างดี  สวรรค์ใดไม่ต้อนรับเขาก็ไม่เสียความรู้สึก เพราะใจของเขามีความสุขแท้อยู่แล้ว และสำหรับผู้ที่นับถือศาสนา ไม่ว่าศาสนาใด เขาย่อมจะนับถือศาสนาได้อย่างเต็มที่และประพฤติดีตามศาสนาได้อย่างมีความสุขสงบแท้ตามความเป็นจริง กระบวนทรรศน์หลังนวยุคสายกลางพัฒนากรอบคิดเชิงปรัชญาจริยะซึ่งมีอย่างหลากหลาย แต่เน้นการยอมรับฟังความแตกต่างและการแสวงหาความแตกต่าง การไม่ยึดมั่นถือมั่นและการส่งเสริมสันติภาพเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขของสังคมโลก กระบวนทรรศน์หลังยวยุค เชื่อว่า ความสุขแท้มีได้ตามความเป็นจริง และความสุขของมนุษย์คือ มนุษย์ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

บทบาทสรุปของแนวคิดลัทธิหลังนวยุคสายกลาง(Moderate postmodernism) คือ การรู้จักวิเคราะห์แยกประเด็นเพื่อเข้าใจและยอมรับหรือปฏิเสธเป็นประเด็นๆ ไป โดยแต่ละคนมีระบบมาตรฐานของตนสำหรับตัดสินใจเลือกแต่ละครั้ง ซึ่งจะปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้นได้เรื่อยไปจากการที่ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์มากขึ้น เรียกว่า มีวิจารณญาณ

โครงสร้างในทางพฤติกรรมของมนุษย์ที่ประกอบเป็นจริยศาสตร์นั้นมี 3 ส่วน คือ

1) หน้าที่ของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนเกิดมาต่างมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบด้วยกันทุกคนแต่ละคนต่างมีหน้าที่รับผิดชอบเป็นของตนเอง จริยศาสตร์จะเน้นให้แต่ละคนรู้จักหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์

2) อุดมการณ์สูงสุดของชีวิต นอกจากมีหน้าที่ของตนเองที่จะทำยังบอกว่ามนุษย์ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร อุดมการณ์ของชีวิตจะทำให้มนุษย์สามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างภาคภูมิ มนุษย์ทุกคนจึงควรตั้งอุดมการณ์แห่งชีวิตของตนเองไว้ และดำเนินการตามแนวทางแห่งอุดมการณ์นั้น เพื่อชีวิตของตนจะได้มีคุณค่า

3) ความดีอันสูงสุด หมายถึงความเหมาะสมในหน้าที่ที่จะพึงทำก่อนหรือหน้าที่เฉพาะหน้าที่สำคัญกว่า การเลือกทำหน้าที่ที่สำคัญกว่า มีคุณค่าสูงกว่า การทำความดีสูงสุด ซึ่งการใช้วิจารณญาณเข้ามาร่วมวิเคราะห์จะทำให้การประเมินค่านั้นพฤติกรรมที่จะกระทำนั้นมีความถูกต้องมากขึ้น

การส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตนี้ เป็นความเชื่อและเหตุผลปฏิบัติของคนรุ่นใหม่ เป็นหลักการและข้อปฏิบัติที่ต้องรักษา ทำตาม “การพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงมีคุณค่าเท่ากับเป้าหมายในระดับศาสนา” และสามารถเรียกได้ว่าเป็นศาสนากระบวนทรรศน์หลังนวยุค “แต่เป็นศาสนาที่ไม่เรียกร้องสมาชิก ไม่แก่งแย่งแข่งขันหรือเชื่อว่าตนเองถูกฝ่ายเดียว ฝ่ายอื่นผิดทั้งหมด” การพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงเป็นศาสนาที่แสวงหาความร่วมมือและพร้อมที่จะช่วยเหลือศาสนาอื่นในฐานะหลักการสำคัญในการดำรงตนตามหลักศาสนานั้นๆ อีกด้วย การประยุกต์ใช้หลักการพัฒนาคุณภาพชีวิตก็จะเหมือนกับการใช้หลักธรรมคำสอน นั่นคือ สามารถปรับใช้ให้เหมาะกับตน คน งาน และองค์การ ไม่จำกัดว่าผู้ใดจะนำมาใช้ ทั้งไม่จำกัดโอกาส เวลา สถานที่ด้วย ซึ่งจะเน้นการบริหารตน บริหารคน บริหารงาน และบริหารองค์กรโดยนำเอาหลักปรัชญา  หลักธรรมคำสอนของศาสนาต่างๆ และหลักวิชาการต่างๆ มาบูรณาการร่วมกันได้ทำให้เกิดแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เปิดกว้างและหลากหลาย

Leave a comment