การตีความปรัชญากระบวนทรรศน์กับลัทธิความเชื่อ

อ.ดร.เอนก สุวรรณบัณฑิต

PHE8109 ปรัชญาและจริยศาสตร์หลังนวยุค

เวลาที่กล่าวถึงระบบลัทธิปรัชญา ระบบ –ism ซึ่งเป็นระบบความเชื่อที่อยู่ในยุคโบราณ ระบบนี้เมื่ออยู่ในกระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ เราเรียกว่า ศาสนา “religion”  อะไรที่เป็นลัทธิในยุคโบราณ ในยุคดึกดำบรรพ์ก็คือศาสนาทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำ วันหนึ่งมันมีลูกเป็นสีขาว เกิดความเชื่อขึ้น มันก็เป็นศาสนาอย่างหนึ่งได้  ศาสนาไม่จำเป็นต้องมีศาสดา การกำหนดว่าต้องมีศาสดา เป็นการกำหนดของยุคสมัยใหม่ (modern) ซึ่งจำแนกว่าความเชื่อใดไม่มีศาสดา ให้กลับไปเป็นลัทธิ แต่ในยุคดึกดำบรรพ์ เชื่ออะไร สิ่งนั้นก็เป็นศาสนาแล้ว การเชื่อว่าหญ้ามีชีวิตก็เป็นศาสนา กระต่ายเป็นเทพเจ้าก็เป็นศาสนา เพราะศาสนาของยุคดึกดำบรรพ์นั้นคือสิ่งที่ขยายไปเป็นวิถีชีวิต ศาสนาแต่ดั้งเดิมคือ way of life เราเชื่ออะไร เรานับถือศาสนาอะไร มันก็คือ วิถีชีวิตของเราอย่างนั้น ถ้าเราเชื่อว่าภูเขามีเทพ ภูเขาต่างๆ ก็จะมีเทพ เราก็จะเคารพภูเขาต่างๆ เราก็จะมีพฤติกรรมศาสนา

แต่ระบบลัทธิความเชื่อ –ism เป็นวิถีชีวิตไหม เป็นความเชื่อ เป็นวิถีชีวิต ในยุคโบราณบอกว่าธรรมชาติ มี law of nature เมื่อเราเข้าใจกฎของธรรมชาติ เราก็จะดำเนินชีวิตได้ จะเกิดแกนของวิถีชีวิตและมีความเชื่อต่างๆ เข้ามาผสมเป็นรายละเอียดในวิถีชีวิต (furnished life)

พอมาถึงยุคกลาง ความเชื่อต่างๆ ก็จะเป็น ศาสนาและความเชื่อ คือมีทั้งศาสนาและลัทธิความเชื่อ ศาสนาคือศาสนา คนที่นับถือศาสนามีความเชื่อ -ism ร่วมด้วยได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการปฏิบัติที่ต่างกัน เกิดเป็นนิกายต่างๆ ของศาสนา

นักปราชญ์ในยุคโบราณ เขาอยู่ลัทธิไหน เขาก็จะมีวิถีชีวิตของเขาเองอย่างชัดเจน

ยุคนวยุค (สมัยใหม่) ยุคนี้ไม่สนใจศาสนา สนใจแต่วิถีชีวิต แต่เป็น lifestyle  มนุษย์จะมีวิถีชีวิตอย่างไรก็ได้ เป็นของแต่ละคน เป็นปัจเจก แต่ละคนต้องมีวิถีชีวิตของตนเอง  ไม่ต้องยึดหลักศาสนา แต่มีลัทธิเข้ามามีบทบาท เช่น ลัทธิเสรีนิยม ลัทธิมาร์ก เป็นต้น คนในยุคนี้เอาวิถีชีวิตเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยเอาลัทธิหรือศาสนาหรือคำสอนมาเป็นเหตุผลสนับสนุนสิ่งที่ตนเองเลือกปฏิบัติเป็นวิถีชีวิต เช่นคนที่ชอบไปทำสวน ปลูกต้นไม้ และอาจพัฒนาจนเป็นสถานปฏิบัติธรรม นั่นก็คือ วิถีแบบนวยุค คนในนวยุคจะเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยดูว่าไปตรงกับศาสนาหรือลัทธิหรือคำสอนใด ในขณะที่คนในยุคโบราณและยุคกลางจะดูว่าตนเองเชื่อลัทธิหรือศาสนาใด แล้วประพฤติปฏิบัติตามหลักการของลัทธิและศาสนานั้น

ในยุคนี้ ในทางศาสนาก็ยังคล้ายจะถือหลักว่าปรัชญาเป็นสาวใช้ของศาสนาอย่างยุคกลาง แต่เอาวิทยาศาสตร์มารับใช้ศาสนา เช่น ชไลเออร์มาเคอร์ (F. Schleiermacher, 1768-1834) ต้องการเอาเหตุผล วิทยาศาสตร์กับ ศาสนากับวิทยาศาสตร์ไปด้วยกัน แต่สำหรับยุคกลาง หากคิดเช่นนี้จะถือว่าแนวความคิดแบบนี้เป็น Hellenism แต่ในยุคสมัยใหม่ก็ต้องยอมรับตามกระแส enlightenment โดยการตีความเพื่อไม่ให้ตกกระแส โดยเสนอเป็น liberal/natural theology ซึ่งคล้ายกับ neo-Orthodox

ในยุคสมัยใหม่ คนจะสนใจแต่วิถีชีวิตของตนเอง เขาไม่ยอมรับและไม่สนใจวิถีชีวิตของคนอื่น เขาจะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เขาจะไม่สนใจว่า วัด โบสถ์ สุเหร่าจะตั้งมากี่ปี จะมีการสวดมนต์ จัดงานอะไรอย่างไร เขาไม่สนใจ แต่ถ้ารบกวนวิถีชีวิตเขา เขาก็จะไม่ยอมทน ย่อมใช้กฎหมายมาช่วยให้ตัวเองดำเนินวิถีชีวิตที่เขาต้องการ

ยุคหลังนวยุค (postmodern) มนุษย์คิดอะไร เชื่ออะไร ถือเป็น way of life เพราะมันคือการพัฒนาไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ไม่รบราฆ่าฟันกัน ไม่ชัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ไม่ใช่ lifestyle แต่เป็น mix and match เป็นการหยิบเอาวิถีความเชื่อต่างๆ อย่างละนิดอย่างละหน่อย มีทั้งดึกดำบรรพ์ โบราณ ยุคกลาง สมัยใหม่ มาร่วมกัน เป็นวิถีชีวิตของเขา แต่เป็นการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย (variety and diversity) และทนได้กับวิถีชีวิตของคนอื่น แต่ถ้าปล่อยไปก็จะจนสุดทางก็จะเกิดการพร่องไปของอัตลักษณ์ (identity) จึงต้องมีการส่งเสริมอัตลักษณ์เข้ามาเสริม ไม่มีการส่งเสริมด้านใดถูกต้องที่สุด แต่ให้ดูว่าทำวิถีไหนแล้ว คุณภาพชีวิตดีกว่า (better quality of life) ก็ให้ทำตามวิถีนั้น เช่น ฝนแล้งก็ทำพิธีขอฝน ปั้นดิน แห่นางแมว พอมีคนบอกว่า สงสารแมว ก็เปลี่ยนเป็นแห่ตุ๊กตาแมวก็ได้

การตีความปรัชญากระบวนทรรศน์จะทำให้เราเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีสิ่งใดที่พอข้ามกระบวนทรรศน์แล้วจะหายไป แต่มันมีการปรับเปลี่ยนไปตามกระบวนทรรศน์ เราก็จะเห็นภาพของกระบวนทรรศน์ทั้ง 5 ได้ครบ มองดูก็คล้ายภาพประวัติศาสตร์ ก็เพราะ ปรัชญากระบวนทรรศน์คือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความคิด ความเชื่อที่ก้าวหน้าตามอารยธรรมมนุษย์ เราจึงต้องย้อนมองให้ออกว่าในอดีตเป็นอย่างไร แล้วส่งทอดมาจนถึงปัจจุบันอย่างไร อย่างมองตัดขวางเป็นช่วงๆ แล้วก็บอกว่ามันหายไป สูญไป ถ้าอะไรๆ ก็หายไป ในยุคนี้ก็จะไม่สามารถรื้อฟื้นความคิดความเชื่อแต่เดิมกลับมาได้ มันต้องมุ่งไปวิทยาศาสตร์อย่างเต็มกำลัง แต่ในความเป็นจริง ความหลากหลายที่เกิดทั่วโลก นี่คือ สิ่งที่ปรัชญากระบวนทรรศน์สามารถใช้พิจารณาได้เป็นอย่างดี

Leave a comment