ปรัชญาศึกษา: บทที่ 12 ปรัชญาสังคม

เสรีนิยม

การดำรงอยู่ร่วมกันเป็นสังคมว่าเป็นสภาพความเป็นจริงของมนุษย์ทุกกลุ่ม ทุกยุคสมัย เพราะมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพากัน เริ่มต้นกลุ่มเล็กที่สุดคือ ครอบครัว ขยายสู่การเป็นเครือญาติ  เพื่อนบ้าน มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน พูดภาษาเดียวกัน มีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึง มีการสร้างแบบแผนความสัมพันธ์ในระดับต่าง ๆ การที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกันจำเป็นต้องยอมรับแบบแผน กฎเกณฑ์ของกลุ่ม ต้องคำนึงถึงการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อให้การดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมเป็นไปอย่างปกติสุข และเกิดความเจริญ ต้องตั้งอยู่บนหลักปรัชญาพื้นฐาน 3 เรื่อง นั่นคือ เสรีภาพ (Liberty / Freedom) เสมอภาค (Equality) และภราดรภาพ (Fraternity)

  1. เสรีภาพ หากแต่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับเสรีภาพทางความคิด มนุษย์ทุกคนปรารถนาความเป็นอิสระในการคิด การค้นหา การเรียนรู้ การเลือก การตัดสินใจ การแสดงออก มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่ทำตัวเป็นอิสระพอที่จะเป็นเสรีชน การบังคับ ควบคุม จำกัด หรือกดขี่ข่มเหงเสรีภาพของมนุษย์ จึงเท่ากับการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลง (Dehumanization) มนุษย์ย่อมมีสิทธิ์ในชีวิตของตนเอง จึงมีเสรีภาพที่จะทำในสิ่งที่ตนเองต้องการได้ เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการนับถือศาสนา รวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนย่อมยืนอยู่บนพื้นฐานของสิทธิที่ถูกรับรองไว้ สังคมที่ดีต้องให้เสรีภาพพื้นฐานแก่ปัจเจกชน ในฐานะที่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เสรีภาพจึงจำเป็นต้องมีขอบเขต ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ทำให้สังคมเสียหาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม เสรีภาพจึงไม่ใช่การทำตามอำเภอใจหรือทำตามใจตัวเองได้ แต่เป็นการทำสิ่งที่พึงกระทำมุ่งเพื่อความดี ความจริง ความงาม นั่นคือการปลดปล่อยศักยภาพของความเป็นมนุษย์ให้แสดงออกอย่างเต็มกำลังเพื่อร่วมสร้างสังคมให้รุ่งเรือง
  2. ความเสมอภาค เมื่อมนุษย์มีเสรีภาพแล้วจะต้องพิจารณาความเสมอภาค แม้กฎหมายจะให้ความเท่าเทียมกันแล้ว แต่ความเสมอภาคมีลักษณะเป็นคุณภาพเพื่อร่วมสร้างสังคมให้รุ่งเรือง ความเสมอภาคจึงต้องมองผ่านความเท่าเทียมกันในสิ่งที่มนุษย์จะมีความเท่าเทียมกันได้ ทุกคนที่เกิดมาควรมีความเท่าเทียมกันในฐานะการเป็นประชากรของรัฐ ได้แก่ มีสิทธิเสรีภาพ ไม่มีการแบ่งชนชั้นหรือการเลือกปฏิบัติ ควรดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ข่มเหงรังแกคนที่อ่อนแอหรือยากจนกว่า ซึ่งเป็นความเสมอภาคที่สร้างความยุติธรรมให้แก่ทุกฝ่ายมากที่สุด ความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิและหน้าที่ เช่น ความเท่าเทียมในด้านการเสียภาษี การรับใช้ชาติโดยการเป็นทหาร และสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น หากแต่ถ้าพิจาณรณาว่าเสมอภาคคือต้องเท่ากันหมด ย่อมไม่ใช่ความเสมอภาคเพราะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง ความเสมอภาคที่สำคัญคือความเสมอภาคที่พึงกระทำ ไม่ใช่เสมอภาคที่เท่ากันทุกคน แต่เป็นความเสมอภาคที่เหมาะสมกับความต้องการ จัดระบบให้ประโยชน์สูงสุดเกิดกับทุกคน จัดอย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ จัดแบ่งประเภทคนให้เหมาะสม คนประเภทเดียวกัน จะได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน ไม่เลือกปฏิบัติ  สังคมได้ประโยชน์สูงสุดเท่า ๆ กัน จากการอยู่ร่วมกัน จัดให้สังคมอยู่ในบรรยากาศไม่เลือกปฏิบัติ โดยตระหนักว่าสังคมอาจไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด หากบังคับให้คนในสังคมต้องได้รับเหมือนกัน เท่ากันทุกประการ
  3. ภราดรภาพคือความเป็นพี่เป็นน้องกัน มนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้อง นั่นคือยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และเน้นการประสานร่วมมือกัน ไม่เน้นผิวพรรณ หรือเผ่าพันธุ์ ภราดรภาพจะช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุข คนในสังคมเสียสละเพื่อช่วยเหลือดูแลเด็ก คนด้อยโอกาส คนป่วย ผู้ประสบภัยพิบัติ ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีความแตกต่างจากเราได้ เป็นสังคมที่มีน้ำใจให้แก่กัน ไม่แลกเปลี่ยนกันบนผลประโยชน์ ไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์เชิงสัญญา (Contractual relationship) ที่ต้องใช้กฎหมาย กฎเกณฑ์ สัญญาในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นหลัก การมีภราดรภาพย่อมทำให้เกิดสังคมคุณภาพได้

ความเคารพในสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมทางสังคม การรู้หนังสือคือพื้นฐานของการศึกษาทั้งมวลและของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนดังกล่าว การรู้หนังสือเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดสันติภาพ เพราะเหตุที่การรู้หนังสือนำมาซึ่งประโยชน์ต่างๆ มากมาย อันส่งผลกระทบต่อมวลมนุษย์ รวมถึงสภาพแวดล้อมทางด้านวัฒนธรรม สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ การไม่รู้หนังสือของสังคมบนฐานความรู้ในปัจจุบันเปรียบได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคำว่าสังคมที่ถูกกีดกันหรือการเป็นสังคมชายขอบ สถานการณ์ที่ไม่สามารถรับได้เช่นนี้ กำลังสกัดกั้นความพยายามทั้งมวลที่จะลด ความยากจนและความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานและเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง การรู้หนังสือเป็นตัวขยายที่เร่งให้เกิดการพัฒนาและแรงผลักดันให้เกิดสันติภาพ ทำให้แต่ละบุคคลมีความเข้มแข็ง ด้วยมีทักษะและความมั่นใจในการแสวงหาข้อมูล ที่สำคัญคือทำให้มนุษย์ได้รับรู้ทางเลือกมากมายที่ส่งผลโดยตรงต่อครอบครัวและชุมชน การรู้หนังสือเป็นเงื่อนไขหนึ่งสำหรับบุคคลแต่ละคนที่จะเข้าร่วมกระบวนการประชาธิปไตยอย่างมีประสิทธิผล รู้ที่จะเรียกร้องสิทธิ์จากองค์กรต่าง ๆ ในชุมชน มีความรู้ในเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นรากฐานที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดรูปแบบนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ โครงการรู้หนังสือต่าง ๆ ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันดีขึ้น ด้วยทำให้ผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรู้จักแสดงออก อนุรักษ์และพัฒนาเอกลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นที่แน่ชัดว่าไม่มีประเทศใดจะสามารถสถาปนาสภาพที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงของสันติภาพได้ แต่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างพลเมืองชาติด้วยระบบการศึกษาที่จัดให้เรียนร่วมกันอันจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจ ความนับถือ การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และการพูดคุยสนทนาร่วมกัน

ปัญหาในสังคมสมัยใหม่

Jurate Morkuniene  (b. 1941) ได้แสดงทรรศนะว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยงใหม่ เทคโนโลยีสมัยล่าสุดคือเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดสังคมข้อมูลข่าวสารที่เปิดความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นลำดับขั้นระหว่างปัจเจกบุคคลกับกลุ่มต่างๆบนพื้นฐานของการเข้าใจที่แท้จริง หากแต่มนุษย์ไม่สามารถเลือกที่จะหนีไปจากสังคมข้อมูลข่าวสารนี้ได้อย่างแท้จริงเนื่องจากภาวะโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดแนวล้อมที่ไม่อาจชนะได้ (Morkuniene, 2004)  และการไม่รู้คอมพิวเตอร์ทำให้เกิดยุคใหม่แห่งความไม่เท่าเทียมกัน และเป็นอันตรายอย่างใหม่ต่อจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ และอาจทำให้สังคมเกิดการแบ่งแยกไปเป็นสังคมคนรวยข้อมูลข่าวสาร (information rich) และสังคมคนจนข้อมูลข่าวสาร (information poor) ผลของโลกาภิวัตน์สารสนเทศได้สร้างปัญหาทางสังคมให้ปรากฏขึ้น
อย่างเด่นชัด  เช่น การปลีกตัวจากสังคมของปัจเจกบุคคล (isolation of individual) ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการสูญเสียความรู้สึกดี ๆ ในการอยู่เป็นชุมชน (a lost sense of community) คนรุ่นใหม่ยังชื่นชอบอยู่กับการสร้างความเกินจริงของความเป็นจริง (virtualisation of hyper-reality) เช่น การชื่นชอบรายการกลุ่ม reality show ซึ่งเป็นสถานะใหม่ของความเป็นจริง (a new state of reality) ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมทางสังคมด้านอื่น ๆ ปัญหาทั้งสามทำให้ความรับผิดชอบในฐานะความเป็นพลเมืองของชุมชนนั้น ๆ ลดลงส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศในที่สุด

สันติภาพ

ขบวนการสันติภาพโลกทุกกลุ่มต่างทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลัง โลกาภิวัฒน์เสรีนิยมประชาธิปไตยได้นำหลักการของประชาธิปไตยอันเป็นหลักการหนึ่งที่จะช่วยลดความแตกแยกลงได้ด้วยการมีเสรีภาพ (liberty) ความเสมอภาค (equality) และภราดรภาพ (fraternity)  ประชาธิปไตยได้เน้นในหลักการของเสรีภาพคือการที่คนมีโอกาสนำเอาศักยภาพของตน เช่น ความรู้ความสามารถและสติปัญญามาร่วมแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม ความเสมอภาคคือการมีโอกาสเท่า ๆ กันโดยเฉพาะการร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมแก้ปัญหาด้วยกัน และภราดรภาพคือความเป็นพี่เป็นน้อง ความสามัคคี มีเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยให้บุคคลทุกคนใช้เสรีภาพและความเสมอภาคในการร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม หลักการทั้งสามนี้ประเทศฝรั่งเศสเป็นต้นแบบแต่พัฒนาสูงสุดโดยประเทศสหรัฐอเมริกา โดยที่สหรัฐอเมริกาได้ยึดถือเป็นเบ้าหลอมสำคัญซึ่งเชื่อมโยงไว้ด้วยกฎหมาย เมื่อสิ้นสงครามเย็น ชัยชนะได้ถูกยึดถือว่าเกิดแก่ประเทศสหรัฐอเมริกา ความเจริญแบบอเมริกันได้รับการยอมรับและแพร่หลายไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก เกิดกระแสก้าวเดินในจังหวะเดียวกัน เรียกกันว่าโลกาภิวัตน์ (globalization) เป้าประสงค์ของสหรัฐอเมริกาคือสร้างวัฒนธรรมอเมริกันเป็นวัฒนธรรมโลก แต่สิ่งสำคัญที่เดินเคียงคู่กันอย่างเต็มภาคภูมิด้วยการผลักดันขององค์การสหประชาชาติก็คือสันติภาพ และสิทธิมนุษยชนที่ได้ก้าวกระโดดในหลายประเทศ เกิดองค์การ human right watch ที่จับตาดูการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทารุณกรรม และค้ามนุษย์ สิทธิมนุษยชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีได้รับการสนับสนุนผ่านโลกไซเบอร์ เกิดเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network) ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมโยงของคนทั้งโลก ข่าวสารหลั่งไหลไปทุกที่อย่างไร้พรมแดน และกระตุ้นกระบวนการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนให้ขยายตัวกว้างในประเทศต่าง ๆ  การฝึกสมาชิกในสังคมเกี่ยวกับกระบวนการร่วมกันคิด ร่วมรับฟัง และเคารพในความคิดของผู้อื่น ตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของตน ร่วมวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางสังคมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน ตลอดจนกระบวนการร่วมกันค้นหาแนวทาง และการตัดสินใจร่วมกันบนพื้นฐานของข้อมูลที่สมบูรณ์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ก็คือ กระบวนการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม (participatory communication process) ของสมาชิกในสังคม อันจะนำไปสู่การเกิดสำนึกเชิงสาธารณะร่วมกัน (public conscientization) และกระบวนการเรียนรู้กัน (learning process) ระหว่างสมาชิกในสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมที่เหมาะสมและเป็นที่เห็นพ้องต้องกันของ สมาชิกในสังคม

 

สรุป

ปรัชญาสังคมพิจารณาความชอบของคนในสังคมต่อกระแสเสรีนิยม สังคมนิยม ทั้งนี้จะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อเสรีภาพ เสมอภาคและภารดรภาพ ที่ทำให้โลกก้าวสู่ยุคพหุวัฒนธรรมและโลกาภิวัตน์ ทั้งนี้ปัญญาสังคมสมัยใหม่ต้องอาศัยแนวทางทางปรัชญาในด้านต่างๆ มาประกอบการอธิบายยิ่งกว่ายุคใดๆ

อ่าน ปรัชญาศึกษา: บทที่ 11 ปรัชญาการเมือง

อ่าน  ปรัชญาศึกษา: บทที่ 13 ปรัชญาธรรมาภิบาล