Epistemology in analytic philosophy

อ.ดร.รวิช ตาแก้ว…

ปรัชญาวิเคราะห์ (Analytic Philosophy) มีญาณปรัชญาว่า ในสมัยปัจจุบันให้ความสนใจทฤษฎีความหมายเป็นพิเศษตามแนวคิดวิทเกินชทายน์ (Ludwig Wiggenstein, 1889-1951) ทฤษฎีความหมายเท่าที่มีในขณะเวลานี้ จัดกลุ่มได้เป็น 4 กลุ่มทฤษฎี คือ

                        1)  ทฤษฎีอ้างอิง (Referential Theory) ทฤษฎีอ้างอิงอ้างว่าความหมายของภาษา คือสิ่งที่หน่วยภาษานั้นบ่งถึง หน่วยภาษาอาจจะเป็นคำ ประโยค หรือข้อความก็ได้ ที่มีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งตามความต้องการของผู้พูด สิ่งที่บ่งถึงนั้นอาจแสดงออกได้เป็นหลายวิธี เช่น ชี้ให้ดู อาจจะนิยามขึ้นกำหนดความหมาย เช่น ครู คือ ผู้ที่ให้วิชาความรู้

                         แอลสทันได้แก้ไขว่า หน่วยภาษามิได้ตรงกับสิ่งที่มันบ่งถึง แต่ตรงกับความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยภาษากับวัตถุ ดังคำพูดของท่านว่า “ความหมายของหน่วยภาษาตรงกับความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยภาษานั้น ๆ กับวัตถุที่หมายถึง…การผูกพันในทำนองนี้คือเนื้อแท้ของความหมาย” (W. P. Alstom,1964)

                         ทฤษฎีอ้างอิงแบบสัจนิยม (realistic referential Theory) ถือว่าความเป็นจริงเป็นความหมายของคำ เพราะฉะนั้นคำทุกคำจะต้องมีวัตถุตอบสนอง ซึ่งอาจมีอยู่จริงหรือปัญญาของเราปะติดปะต่อจากสิ่งที่มีอยู่จริง คุณค่าต่างๆ จึงมีมาตรการจริงเป็นวัตถุวิสัย เช่น มาตรการความดีมีอยู่จริงตายตัวสำหรับตัดสินว่า “เป็นสิ่งดี”

                         ทฤษฎีอ้างอิงแบบทฤษฎีภาพ (picture Theory) ถือว่าประโยคที่จะจริงได้ต้องเป็นประเภทข้อตัดสินข้อเท็จจริง (fact judgement) คือตัดสินว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร (What is the case) เพราะฉะนั้นประโยคประเภทตัดสินคุณค่า (value-judgement) คือตัดสินว่าควรเป็นอย่างไร (What ought to be the case) ไม่มีความหมาย

                        2)  ทฤษฎีพิสูจน์ (Verificational Theory) เป็นทฤษฎีของสำนักปฏิฐานนิยมเชิงตรรกะ (logical positivism) ซึ่งมีกำเนิดมาจากชมรมเวียนนา (Vienne Circle) วิทเกินชทายน์ได้รับเชิญเป็นแขกผู้มีเกียรติของชมรม หนังสือตำราปรัชญาเชิงตรรกะ,1922 ของท่านเป็นคัมภีร์เล่มหนึ่งของชมรม  คำถามพื้นฐานของชมรมเวียนนาและของลัทธิปฏิฐานนิยมโดยทั่วไป ก็คือ จะใช้อะไรเป็นมาตรการสำหรับตัดสินว่าคำพูดคำใดมีความหมายหรือไม่ ถ้ามีความหมายจะได้รับไว้สำหรับใช้ค้นคว้าทางวิชาการต่อไป หากไม่มีความหมายจะได้ขจัดออกไปเสียตั้งแต่ต้น ไม่ให้ไปปะปนกับคำที่มีความหมายอันเป็นเหตุให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ในที่สุดก็ลงมติว่า ควรใช้การพิสูจน์ได้ (verificability) เป็นมาตรการตัดสินว่าคำใดมีความหมายหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ได้ตามวิธีการของวิชาฟิสิกส์ก็มีความหมาย รับไว้เป็นข้อมูลของความรู้ได้  ซึ่งแอร์ (A.J. Ayer,1910 – 1989) ได้ประมวลความคิดขึ้นเป็นสูตรว่า “ข้อความจะถือได้ว่าความหมายตามตัวอักษรก็ต่อเมื่อเป็นข้อความวิเคราะห์ หรือข้อความที่ทดสอบได้ด้วยประสบการณ์เท่านั้น” ข้อความวิเคราะห์ (analytic statement) ได้แก่ข้อความที่เป็นไปตามนิยาม เช่น สามเหลี่ยมด้านเท่า คือ รูปที่มีสามเหลี่ยมด้านเท่ากัน คือ เมื่อรู้นิยามของคำทุกคำที่ใช้แล้วจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จึงไม่ต้องการการพิสูจน์แต่ประการใด ข้อความอื่นนอกเหนือไปจากนี้เรียกว่า ข้อความสังเคราะห์(synthetic statement) ล้วนแต่ต้องการทดสอบเพื่อรับรองการมีความหมายทั้งสิ้น

                         จากแนวคิดนี้ทำให้เกิดความคิดว่า เมื่อพูดถึงปฏิฐานนิยมเชิงตรรกะก็ถือว่าลัทธินี้ใช้การพิสูจน์ได้ เป็นมาตรการตัดสินการมีความหมาย ผลที่ตามมาคือ ข้อความเกี่ยวกับคุณค่าต่าง ๆ จะไร้ความหมาย (non–sense or meaningless) เพราะข้อความประเภทนี้ เช่น x is good ไม่มีข้อเท็จจริงจะมาพิสูจน์ได้ เพราะไม่ใช่ข้อความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั่นเอง

                        3)  ทฤษฎีจิตวิทยา (Psychological Theory) นักปรัชญาภาษาที่ถือทฤษฎีนี้ว่า ความหมายคือความพร้อมของภาษาที่จะก่อให้เกิดกระบวนการทางจิตวิทยา (disposition to cause psychological processes) กระบวนการดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นในตัวผู้สื่อสาร หรือในตัวผู้รับการสื่อสารก็ได้ ภาษาจึงมี 2 ความหมายคือ ความหมายของผู้สื่อสารหรือผู้ใช้ภาษา และความหมายของผู้รับการสื่อสารหรือผู้รับรู้ภาษา ความหมายของผู้สื่อสาร ได้แก่ภาวะของจิตใจที่เป็นสาเหตุให้พูดคำพูดหรือแสดงเครื่องหมายออกมาเพื่อสื่อสารไปถึงผู้อื่น ส่วนความหมายของผู้รับสื่อ ได้แก่ ภาวะทางจิตใจอันเป็นผลจากการได้ฟังคำพูด

                         4)  ทฤษฎีเครื่องมือ (Tool Theory) ทฤษฎีนี้เสนอว่า ความหมายคือ เครื่องมือสื่อสาร ภาษาจะมีความหมายก็โดยเป็นเครื่องมือสื่อสารและจะมีความหมายอย่างไรนั้นก็แล้วแต่ว่าจะใช้สื่อสารในเรื่องใด ผู้ที่มีความเห็นตามนัยนี้มีหลายท่าน

                         ทฤษฎีเครื่องมือของวิทเกินชทายน์  ได้เสนอในหนังสือ สำรวจเชิงปรัชญาว่า การใช้ภาษานั้นมีด้วยกันหลายแบบ ซึ่งจะเปรียบได้เหมือนกับเครื่องมือช่าง แต่ละชิ้นอาจนำไปใช้ได้  ต่าง ๆ กันตามความต้องการของผู้ใช้  คำหรือประโยคก็เหมือนกัน แต่ละหน่วยมีวิธีการใช้และการใช้ได้ต่าง ๆ กันมากมาย จนยากที่จะกำหนดได้ว่าลักษณะใด ซึ่งเปรียบได้เสมือนเกม คือจะต้องมีกิจกรรมอะไรสักอย่าง ยากที่กำหนดได้ว่า กิจกรรมจะต้องมีลักษณะใดจึงเป็นเหมือนเกมของการใช้ภาษา โดยวิเคราะห์โครงสร้างของภาษาว่าได้บิดเบือนโครงสร้างของความคิด ภาษาเป็นต้นเหตุของความยุ่งยากในทางการใช้ความหมายเพื่อการสื่อสารทางปรัชญา จึงได้เสนอนำทฤษฎีต่าง ๆ ที่ว่าด้วยความหมาย (theories of meaning) และได้สรุปไว้ว่า ควรวิเคราะห์การใช้ภาษาตามแบบเกมภาษา (language game) “คำว่า เกมภาษา ตั้งใจจะเน้นให้เห็นชัดเจนถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการพูดภาษา เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหรือของชีวิตแบบหนึ่ง”

Leave a comment