diversity in unity

ผศ.(พิเศษ) ดร.เอนก สุวรรณบัณฑิต

เมื่อปรารถถึงความเป็นจริงของโลกในทางปรัชญามีหลักการ 2 อย่างที่มักจะเข้าใจว่าเหมือนกัน แต่ก็แตกต่างกัน นั่นคือ เอกภาพในความหลากหลาย (unity in diversity) และ ความหลากหลายในเอกภาพ (diversity in unity) ซึ่งกระแสของโลกปัจจุบันมุ่งไปที่เอกภาพในความหลากหลาย ด้วยเห็นว่า ความเป็นจริงต่างๆ ของโลกและสังคมโลกปรากฎความหลากหลาย จึงต้องกำกับหรือเน้นย้ำความเป็นเอกภาพเพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างจนนำไปสู่ความขัดแย้ง

การรวมตัวเป็นสังคมระดับประเทศและประชาคมระดับภูมิภาคต่างก็เน้น เอกภาพในความหลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของการรวมตัวเป็นประชาคม อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความพยายามในการก้าวข้ามความเป็นเชื้อชาติ ศาสนา สู่การเป็นประชาคมในภูมิภาคเดียวกัน ในประเทศเดียวกันนั้น ยังคงพบเจอปัญหาความขัดแย้งอันเป็นเหตุให้ความร่วมมือและการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมหนึ่งเดียวกันนั้นต้องสะดุดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถพบได้ทั้งในระดับระหว่างชนชาติ ระดับภูมิภาคและระดับชาติ

หากเปรียบเทียบความสำคัญของปัญหาแต่ละระดับจะพบว่า ปัญหาความขัดแย้งระดับชาติถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขและเยียวยาก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากหากปัญหาความขัดแย้งในระดับประเทศยังไม่สามารถจัดการได้ ผู้คนที่อยู่ท่ามกลางความแตกต่างและซับซ้อนทางชาติพันธุ์ ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรม กระบวนทรรศน์ การเมืองและผลประโยชน์จะยิ่งทนทุกข์ยากลำบากมากขึ้นอย่างแน่นอน

ปัญหาความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ ความเชื่อและศาสนาคือ หนึ่งในปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศที่เป็นประเด็นสำคัญและอาจโยงใยไปเป็นปัญหาระดับชาติ ตลอดจนยังถูกนำมาเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นทางการเมือง และสามารถทำให้ลุกลามเป็นความสับสน ปั่นป่วน วุ่นวายและจราจลได้

เมื่อใช้หลักอ่านใหม่หมด ไม่ทอดทิ้งอะไรเลย (re-read all, reject none) ก็ทำให้ย้อนมาพิจารณาว่า กระแส unity in diversity ที่เน้นความสามัคคีนั้น มาจากแนวทางของสหประชาชาติที่เน้นให้ทุกฝ่ายทน (tolerance) ต่อฝ่ายอื่นตามแนวทางสโตอิค (stoicism) เป็นหลักการบูรณาการเพื่อการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมากมาย ผ่านระบบระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและสันติภาพในโลก (durable order of peace) หากอดทนอดกลั้นต่อกันได้ก็พอจะอยู่ร่วมกันต่อไปได้ จนกว่าจะเกิดฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลา และนั่นก็คือ ความขัดแย้งที่รออยู่ ณ ปลายทางแห่งกาลเวลา

แต่ในอีกทางหนึ่ง หลัก diversity in unity ที่เน้นความแตกต่างหลากหลาย การแบ่งปัน (sharing) ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่งอาจมองเป็น diversity within unity โดยที่มีความเคารพ (respect) และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (adhere) ด้วยถือว่า สรรพสิ่งมีเนื้อแท้สารัตถะเดียวกัน (essence) จึงเป็นการแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง โดยส่วนต่างหรือความหลายหลาย (diversity and variety) ถือว่าเป็นพรสวรรค์ของแต่ละฝ่าย เป็นความสร้างสรรค์ (creativity) ของแต่ละฝ่าย เป็นพลังสร้างสรรค์ที่ทำให้มนุษย์ก้าวหน้ามีอารยธรรมมาจนถึงปัจจุบันนี้ สารัตถะที่จะมองเป็นหนึ่งเดียวนี้ พิจารณาได้ว่ามาจากแนวคิด oneness ซึ่งย่อมเข้าใจได้ผ่านแนวคิดปรัชญาลัทธิอุดมคตินิยม (idealism) ว่าสรรพสิ่งมีจิตเป็นเบื้องหลัง สำหรับฝ่ายที่ไม่เชื่อจิต ก็จะเชื่อว่ามีสสาร (matter) เป็นเบื้องหลัง เหมือนกันกับตน เป็นความเหมือนกัน (sameness) จึงมีจุดร่วมหนึ่งเดียวกันได้

จุดศูนย์ของการมองเห็นในประเด็นนี้ จึงอยู่ที่เรามองว่า สรรพสิ่งเป็นความหลากหลาย (plural) หรือ สรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียว (one) หากมองสรรพสิ่งเป็นความหลากหลายก็จะเน้นการมีเอกภาพในความหลากหลาย การกำกับควบคุมให้มีความเสมอภาค (equality, equity) เพื่อให้แต่ละฝ่ายมีส่วนได้และส่วนเสียพอๆ กัน ไม่กระทบกระทั่งกันมากนัก ทำให้ทนอยู่ร่วมกันได้ แต่ถ้ามองว่าสรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียว ให้ความสร้างสรรค์กระทำการไปตามพรสวรรค์เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า ความก้าวหน้ายิ่งกว่า แต่ถ้าเกิดโทษ ก็จะต้องมีการปรับตัว (adaptivity) เพื่อให้ฝ่ายที่สร้างสรรค์ทำการควบคุมผลเสียที่เกิดขึ้น และเมื่อแต่ละฝ่ายสร้างสรรค์และปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง ก็ย่อมจะเกิดความร่วมมือกัน (collaboration) ได้บนพื้นฐานร่วมกัน การอยู่ร่วมกันจึงเป็นการดำรงอยู่ท่ามกลางความหลากหลายของตัวเลือก (choice) ซึ่งทำให้ชีวิตมีสีสรร และเป็นการมีระดับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม นำไปสู่การร่วมด้วยช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตไปสู่ระดับคุณภาพใหม่ (requisitivity) อันจะทำให้อารยธรรมของมนุษยชาติก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง

การคิดอย่างปรัชญาอาจลงลึงในประเด็นที่หลายคนมองว่า ไม่เห็นจะแตกต่างกัน (indifferentism) เพราะ unity in diversity และ diversity in unity ก็เป็นเรื่องเดียวกัน แต่สำหรับปรัชญาแล้ว สองคำนี้ตีความได้แตกต่างกัน และมีรากความคิด (thinking root) ต่างกัน ซึ่งนำไปสู่เหตุผลบริสุทธิ์ที่ต่างกัน จึงเป็นเหตุผลปฏิบัติที่ต่างกันด้วย และเมื่อต้องตัดสินใจปฏิบัติก็จะแตกต่างกัน ปรัชญากระบวนทรรศน์หลังนวยุคสายกลางจึงเป็นฐานคิดที่ทำให้ย้อนมองในประเด็นเล็กๆ เช่นนี้ เพื่อให้เกิดจุดสะดุดคิดและอาจช่วยให้หลายฝ่ายได้ปรับปรุงท่าทีต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้

Leave a comment