ปรัชญาหลังนวยุค

อ.ดร.รวิช ตาแก้ว

กระบวนทรรศน์หลังนวยุค (Postmodern Paradigm) สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำลายมนุษย์ไปประมาณ 10 – 20 ล้านคน สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำลายไปอีกประมาณ 60 – 100 ล้านคน จึงมีการตั้งปัญหาถามขึ้นมาว่าวิทยาศาสตร์จะสร้างสวรรค์หรือทำลายโลกกันแน่ คำตอบที่ได้คือ จะทำลายมนุษย์หมดโลกแน่ หากยึดกระบวนทรรศน์แบบนวยุค (Modern Paradigm) ดังนั้น เมื่อไม่ต้องการกระบวนทรรศน์แบบนวยุคก็ต้องสร้างกระบวนทรรศน์ใหม่  แนวคิดกระบวนทรรศน์ใหม่แบบหลังนวยุคถูกปูทางโดยแนวคิดทางปรัชญาของคานท์ โดยชี้ให้เห็นแนวทางความไม่แน่นอนของความรู้ว่ามนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความรู้ที่แท้จริงได้ วิชาการต่าง ๆ จึงไม่อาจรับได้ว่าจริง มีแต่ความแน่นอนตายตัวจากกลไกกรรมวิธีของสมอง เป็นเหตุให้ถูกแปรสภาพไปจนเราไม่อาจจะรู้ว่าอะไรจริง

กระบวนทรรศน์หลังนวยุค แบ่งออกเป็นสองสาย คือ สายสุดขั้ว และสายกลาง

  1. กลุ่มหลังนวยุคสายสุดขั้ว (extreme postmodernism/deconstructionisms) กลุ่มนี้มีความเชื่อว่า ทุกคนสามารถที่จะมีความรู้ได้และเป็นความรู้เฉพาะตัว ไม่มีกฎที่เป็นสากล  วิธีการวิทยาศาสตร์ที่ใช้เพื่อค้นคว้าความรู้ต่าง ๆ ก็คือวิธีการทางสถิติเท่านั้นเอง ความรู้ที่นำมาจัดการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่นำมายัดเยียดให้แก่คนทั่วไป อีกทั้งความรู้นั้นเป็นความรู้ที่ยังไม่มีความแน่นอน เพราะกฎวีธีการวิทยาศาสตร์เปลี่ยนไปมาตลอดตามข้อมูลที่ค้นพบใหม่ ๆ กฎตรรกะก็เป็นเพียงกฎที่สร้างขึ้น ดังนั้น เมื่อไม่เชื่อว่าจริง การเชื่อมโยงก็เป็นการเชื่อมโยงเฉพาะเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ  ควรยึดถือความรู้เฉพาะของแต่ละคน
  2. กลุ่มหลังนวยุคสายกลาง (moderate postmodernism/reconstructionism) กลุ่มนี้มีความเชื่อว่า แต่ละคนมีระบบเครือข่ายของตนเอง ซึ่งเทียบกับคนอื่นจะเหมือนบ้างไม่เหมือนบ้าง ส่วนที่ต่างกันก็ถือว่าเป็นพรสวรรค์ของแต่ละคน ส่วนที่เหมือนก็ร่วมมือกัน  แต่ละคนสร้างระบบเครือข่ายเพื่อรู้เหตุผลที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบและก่อให้เกิดเป็นความจำ เครือข่ายของบุคคลเป็นเรื่องของแต่ละคน 

กระบวนทรรศน์หลังนวยุคมีแนวคิดร่วมกันว่า โลกภายนอกมีระบบเครือข่ายหรือไม่ ก็เชื่อว่าน่าจะมี เรารู้ได้เพียงส่วนหนึ่งและต้องหาความรู้ใหม่เรื่อยไป เพราะโลกภายนอกก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ  สภาพของความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทั้งการไม่ยอมรับความรู้อื่นที่ไม่อาจพิสูจน์ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ทำความรู้อื่นหลุดลอดช่องตาข่ายออกไป  ยิ่งทำให้ขาดความรู้ส่วนอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก

รวิช ตาแก้ว, 2557

แผนภาพที่  1 ข้อบกพร่องของระบบเครือข่ายความรู้ที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

                     จากแผนภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่า มีข้อบกพร่องในการยอมรับเฉพาะความรู้ที่พิสูจน์ได้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ เพราะความรู้บางเรื่องไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นความรู้ที่ไม่สามารถสรุปให้เข้ากับแนวคิดหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ได้ ความรู้เหล่านี้ล้วนเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของแต่ละบุคคล

แนวความคิดของลัทธิหลังนวยุคสายกลาง เชื่อว่า ความเป็นจริงที่อ้างนั้นเป็นเพียงความเชื่อถือทางภาษาเท่านั้น และไม่เชื่อว่ามนุษย์สามารถรู้ความจริงเชิงวัตถุวิสัยได้  ทั้งความรู้ที่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่รับรู้ได้ แล้วใช้ความเชื่อทางภาษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดสิ่งที่รับรู้ได้อีกทอดหนึ่ง แนวคิดของลัทธิหลังนวยุคจึงมีทรรศนะต่อระบบความรู้ว่าเป็นเรื่องเล่า (narrative) เรื่องหนึ่งเท่านั้น  โดยแบ่งเรื่องเล่าออกเป็น 2 ช่วง คือ  1) ยุคก่อนนวยุคนิยม (ยุคโบราณ ยุคกลาง) ที่นิยมทำภาษาให้มีความหมายด้วยเรื่องปรัมปรา (myth) และเรื่องเล่า (narrative) โดยเชื่อว่ามีความหมายตรงกับความเป็นจริงอยู่บ้าง แต่ไม่มีความเป็นจริงวัตถุวิสัยอย่างแท้จริง เพราะมีส่วนอัตวิสัยของผู้เล่านำเข้ามาแทรกไว้  2) นวยุคนิยมเป็นความพยายามปลดเปลื้องภาษาจากความหมายปรัมปราและเรื่องเล่า เพราะถือว่ามีความหมายไม่ตรงกับความเป็นจริง ตามความเชื่อของนวยุคนิยมที่ว่า มีความจริงวัตถุวิสัยในระบบความรู้  ซึ่งความรู้ที่เชื่อว่าความจริงต้องมีวัตถุวิสัยที่ตรงกัน 3 อย่าง คือ ความเป็นจริง ความคิด และภาษา ทั้ง 3 เป็นระบบเครือข่าย (systematic network) ของนวยุคภาพ และได้สร้างความหมายใหม่ให้กับภาษาด้วยเหตุผล (อุปนัยและนิรนัย) และระบบที่ทำให้ความหมายเก่ามีความหมายโฉมหน้าใหม่

                กีรติ บุญเจือ (2545) ได้ให้ทรรศนะไว้ว่า ลัทธิหลังนวยุคนิยมไม่เชื่อว่ามนุษย์เราสามารถรู้ความจริงของวัตถุวิสัยได้ และเชื่อว่าภาษาไม่สามารถสื่อความจริงได้  ดังเช่น นวยุคภาพพยายามวิจารณ์และขจัดเรื่องปรัมปราและเรื่องเล่าของศาสนาคริสต์ออกจากความรู้ยุคกลาง แต่ก็ทำไม่สำเร็จเพราะชาวนวยุคได้สร้างเรื่องปรัมปราใหม่ขึ้นมาแทนคือ การสร้างวิธีคิดด้วยระบบเหตุผลขึ้นมา และให้มีอำนาจแทนพระเจ้า ความรู้ที่นวยุคนำเสนอออกมาด้วยเหตุผลจึงเป็นเพียงเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง  ซึ่งเป็นเรื่องเล่าประเภทสร้างความเชื่อถือให้กับความรู้ด้วยอำนาจของเหตุผล

                ด้วยเหตุนี้ หลังนวยุคนิยมจึงพยายามปลดเปลื้องความหมายของภาษาให้พ้นไปจากพันธะนี้โดยการรื้อถอดความหมาย และคัดเอาความหมายที่ติดข้องอยู่กับเหตุผลและระบบออกทิ้งไปให้เหลือแต่ความหมายที่มีคุณค่าจริง ๆ ไว้  จากนั้นจึงสร้างความหมายใหม่ให้กับภาษา  ด้วยการวางใจเป็นกลางให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยใช้วิธีการย้อนอ่านใหม่ทั้งหมดและแสวงหาความหมายใหม่จากเรื่องปรัมปรา และเรื่องเล่าตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

                การสร้างความหมายใหม่ให้กับภาษา จึงเป็นความพยายามของแนวคิดนวยุคที่ต้องการสื่อความหมายทางความคิดโดยการขีดกรอบความคิดที่อ้างอิงกับการคิดแบบวิทยาศาสตร์  ความคิดใดที่ไม่สามารถอธิบายได้ตามแนวคิดของวิทยาศาตร์ก็จะไม่ได้รับการยอมรับ เพราะถือว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายให้เห็นว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ  ด้วยเหตุนี้ทุกความเชื่อในวิถีคิดแบบนวยุคจึงใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เป็นรูปแบบในการอธิบายความหมาย อาทิ พุทธศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์  โหราศาสตร์ที่ใช้แนวคิดตามหลักการดาราศาสตร์  กรอบความคิดในการตีความจึงแคบอยู่ในเฉพาะบริบทของวิทยาศาสตร์

                กระบวนทรรศน์หลังนวยุคนิยมพยายามแก้จุดบกพร่องของกระบวนทรรศน์ในอดีตให้ได้ โดยแก้ไขประเด็นที่เอื้อต่อสงครามและสนับสนุนประเด็นส่งเสริมสันติภาพ (กีรติ บุญเจือ, 2545) วิถีทางที่มนุษย์ควรจะดำรงอยู่ในโลกได้อย่างสันติสุข เพราะแนวคิดที่ผ่านมาในอดีตได้แบ่งเป็นกลุ่มความคิดออกเป็นสำนัก ลัทธิต่าง ๆ มากมาย แม้จะจัดกลุ่มได้เป็น 4 กระบวนทรรศน์ก็ยังมีประเด็นที่เอื้อต่อสงครามคือ ความยึดมั่นถือมั่น (attachment) กล่าวคือ ใครเชื่อปรัชญาระบบใดก็จะคิดตามระบบนั้นระบบเดียวเป็นความจริงถูกต้อง มีประโยชน์ ระบบอื่น ๆ ล้วนแต่เท็จ ผิด หลงประเด็น ให้โทษทั้งนั้น 

ดังคำสอนของพระพุทธองค์ทรงสอนว่าการยึดมั่นถือมั่นนั้นไม่เอื้อต่อการพบความจริง จึงทรงแนะนำให้ใช้กาลามสูตรเป็นหลักพิจารณาว่า ปราชญ์ทั่วไปจะสรรเสริญหรือตำหนิ ต้องพิจารณาตรึกตรองให้ถ่องแท้ด้วยตนเองแล้ว จึงยอมรับความเป็นจริง  อีกทั้งพระเยซูก็ตรัสว่า “พระจิตเจ้าจะสอนให้ท่าน (แต่ละคน) เข้าใจความหมายของข่าวดีของเรา” (ยอห์น 14 :26)

                วิถีทางที่จะทำให้เกิดความสันติสุขได้นั้น ต้องไม่มีการยึดมั่นถือมั่น ซึ่ง กีรติ  บุญเจือ (2545:197) ได้กล่าวไว้ว่า  การยึดมั่นถือมั่นเป็นเหตุให้เกิดการแบ่งแยก  การแบ่งแยกเป็นเหตุให้เกิดการแข่งขัน  การแข่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่ไว้ใจกัน  ความไม่ไว้ใจกันเป็นเหตุให้เกิดการทำลายกัน  แนวทางที่ควรส่งเสริมและสนับสนุนคือ ควรหันหน้ามาปรึกษาหารือกันให้รอบคอบและเปิดโอกาสให้พิจารณารับส่วนดีจากทุกส่วนทุกทางสามารถร่วมมือกันได้โดยไม่ต้องคิดเหมือนกัน สร้างบรรยากาศเอกภาพในความหลากหลายและช่วยเสริมกันและกัน  โดยความไม่ยึดมั่นถือมั่นนำไปสู่การแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ  การแบ่งหน้าที่นำไปสู่การส่งเสริมกัน  การส่งเสริมกันนำไปสู่ความไว้ใจกัน  ความไว้ใจกันนำไปสู่ความร่วมมือกัน  ความร่วมมือกันนำไปสู่สันติภาพ  แนวทางการสร้างกระบวนทรรศน์ใหม่นี้น่าจะเป็นแนวทางที่ส่งเสริมสันติสุขของโลกได้  ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากความรู้ได้อย่างถูกต้องที่สุดในแนวทางของการแสวงหาความรู้ของปรัชญา

                กระบวนทรรศน์หลังนวยุคใช้หลักการวิจารณญาณ (critical mind) เป็นเครื่องมือสร้างในการสร้างความรู้และการคิดตัดสินใจเพื่อกระทำการต่าง ๆ อย่างรอบคอบ ซึ่งประกอบด้วยหลักการ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การใช้หลักการวิจารณญาณ หมายถึง กระบวนการใช้ความคิด 3 ขั้น ประกอบด้วย 1) การศึกษาวิเคราะห์เพื่อแยกประเด็นต่างๆ ในประเด็นที่ต้องการ  2) การประเมินค่าประเด็น ต่าง ๆ ที่ได้วิเคราะห์ว่า มีคุณค่าดีเพียงพอสำหรับการนำไปใช้ เลือกเก็บเอาเฉพาะส่วนดี มาสังเคราะห์  3) นำส่วนดีที่สังเคราะห์ได้ไปประยุกต์ใช้สำหรับการแก้ไขปัญหา  และ ขั้นตอนที่ 2 การใช้หลัก 3 กล้า (3 Dare) ตามแนวคิดของลัทธิอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ประกอบด้วย 1) กล้าเผชิญปัญหา (seeing) 2) กล้าประเมินวิธีปฏิบัติ (judging) 3) กล้าลงมือกระทำการด้วยความรับผิดชอบ (acting) โดยยึดถือคุณค่าของความเป็นมนุษย์   ทั้ง 2 ขั้นตอนเป็นการใช้หลักการวิจารณญาณตามแนวคิดกระบวนทรรศน์หลังนวยุคนิยม ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ อาทิ การอ่าน

                การอ่านอย่างมีวิจารณญาณเท่านั้นที่ให้ความเข้าใจและความรู้อย่างถ่องแท้ และทำให้สมรรถภาพคิดเติบใหญ่ขึ้น (กีรติ  บุญเจือ, 2545) การอ่านอย่างมีวิจารณญาณจึงเป็นกระบวนการหาความรู้อย่างหนึ่งที่ใช้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ซึ่งได้ชี้แนะแนวทางไว้ว่าหากต้องการหาความรู้อย่างถ่องแท้ต้องใช้วิธีการอ่านอย่างมีวิจารณญาณจึงจะสามารถพัฒนาสมรรถภาพการคิดให้กว้างขวางเติบโตได้มากขึ้น  การอ่านอย่างมีวิจารณญาณจึงเป็นเสมือนญาณปรัชญาอันเป็นแนวทางในการเข้าถึงความรู้   จอร์ช  เมเซีย (Maccia,1973) ได้นำเสนอการเข้าถึงความรู้ตามแนวของญาณปรัชญาต่อสภาปรัชญาแห่งโลกในการประชุมครั้งที่ 15  ณ ประเทศบุลกาเรีย ไว้ว่า

 

ลักษณะของความรู้มีส่วนประกอบอยู่สามลักษณะคือ  ความรู้เชิงปริมาณหรือเชิงหลักการ  ความรู้เชิงคุณค่า  และความรู้เชิงปฏิบัติการ

George Maccia, 1973

จอร์ช  เมเซียได้ให้ความหมายความรู้แต่ละส่วนไว้ว่า  ความรู้เชิงปริมาณหรือเชิงหลักการ เป็นความรู้ในโลกของเชาวน์ปัญญาทางสมองโดยผ่านการคำนวณแบบต่าง ๆ หรือรูปแบบการรู้ต่าง ๆ ผ่านการคิดแยก ลำดับชั้น จำแนกประเภทสิ่งต่าง ๆ ได้ โดยสรุปจากเหตุผลไป สู่ความเข้าใจ ซึ่งเป็นการรู้เชิงทฤษฎี และการรู้เชิงเกณฑ์  สำหรับความรู้เชิงคุณค่านั้นเป็นความรู้ในโลกของความรู้สึก สรุปได้จากประสบการณ์ที่สัมผัสกับการรู้ที่เป็นรูปธรรม แล้วอนุมานมาจากความเชื่อที่ได้สัมผัส สรุปเป็นการรู้จากการรำลึก การรู้จากความคุ้นเคย และการรู้จากความซาบซึ้ง  และความรู้อีกอย่างหนึ่งคือความรู้เชิงปฏิบัติการ เป็นความรู้ที่สรุปได้จากความรู้ทั้งสอง(ความรู้เชิงคุณค่าและความรู้เชิงปริมาณ)แล้ว นำมาสรุปเป็นความรู้เชิงปฏิบัติการ เพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติการ  เมื่อปฏิบัติการแล้วก็จะเกิดเป็นความรู้ในเชิงปฏิบัติการต่ออีกระดับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากความรู้ทั้งสองอย่างที่กล่าวมาข้างต้น กล่าวคือเป็นความรู้เชิงปฏิบัติการที่รู้ว่าสร้างอย่างไร ประดิษฐ์อย่างไร นวัตกรรมอย่างไร และสร้างสรรค์อย่างไร นี้คือบทสรุปเชิงความรู้ที่จอร์ซ  เมเซียนำเสนอ (มะลิฉัตร เอื้ออานันท์, 2545)

                ดังนั้นหากต้องการเข้าใจความหมายของการอ่านอย่างมีวิจารณญาณนั้นจำเป็นต้องมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับขั้นตอนของกระบวนการวิจารณญาณเสียก่อน (การรู้เชิงเกณฑ์หรือเชิงหลักการ)  ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ  1) วิเคราะห์แยกประเด็น  2) ประเมินค่าแต่ละประเด็น  3) เลือกเก็บส่วนที่เป็นคุณแก่ตนในขณะนั้น  แล้วสังเคราะห์เข้าเป็นสมบัติส่วนตัวเพื่อใช้ให้เป็นคุณประโยชน์ต่อไป  จากนั้นจึงเทียบเคียงว่าตนเองเข้าใจคุณค่าของการใช้วิจารณญาณหรือไม่(การรู้เชิงคุณค่า) หากไม่มีก็จะรู้ว่าแค่เคยรู้หรือไม่รู้  จากนั้นนำการรู้นั้นมาสรุปเพื่อใช้ในการปฏิบัติต่อเมื่อปฏิบัติแล้วก็สรุปว่า การรู้นั้นเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไร (การรู้เชิงปฏิบัติการ) กระบวนการรู้นั้นจะวนเวียนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งผู้รู้นั้นซาบซึ้งกับการดำเนินการนั้น  ผู้นั้นก็จะเข้าถึงคุณค่าของการรู้นั้นอย่างแท้จริง  กระบวนการรู้ส่วนอื่น ๆ ก็จะดำเนินการไปตามขั้นตอน  และความรู้นั้นจะสั่งสมเป็นประสบการณ์เชิงการรู้อย่างมีวิจารณญาณของผู้นั้น  สมรรถภาพการคิดก็จะเติบโตกว้างขวางขึ้นตามประสบการณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล

                บทสรุป ปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง เชื่อว่าแต่ละคนมีระบบเครือข่ายของตนเอง ซึ่งเทียบกับผู้อื่นก็จะเหมือนบ้าง ต่างบ้าง  แต่ละคนจะสร้างระบบของตนเอง เมื่อเทียบแล้วจะมีส่วนเหมือนและส่วนต่าง  ส่วนที่เหมือนกันก็ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานและแบ่งปันซึ่งกันและกัน  ส่วนที่ต่างก็ยกย่องเป็นพรสรรค์ของแต่ละคนเป็นทักษะเฉพาะของแต่ละบุคคล

รวิช ตาแก้ว, 2557

แผนภาพที่  2 แสดงระบบเครือข่ายที่เหมือนกันและแตกต่าง

                    ปัญหาคือทำอย่างไรให้คนที่มีความคิดต่างกัน สามารถร่วมมือกันได้ ทางออกที่นำมาแก้ไขคือการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วยการร่วมกันพูดคุยหรือเสวนา (dialogue) โดยพูดคุยกันเพื่อให้แต่ละคนได้แจกแจงความคิดเห็นของตนเอง และได้พิจารณาความเหมือนและความแตกต่างระหว่างความคิดของตนเองและผู้อื่น  อันเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ซึ่งแต่ละคนจะสร้างระบบเครือข่ายการรู้ของตนเองขึ้นมาเมื่อมีการรู้เชิงเหตุผลและสามารถเชื่อมโยงกันเป็นระบบทำให้เกิดเป็นความจำของแต่ละคนในเรื่องนั้น ๆ

                    เครือข่ายการรู้ของบุคคลจึงเป็นเรื่องที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาเองในสมอง เพื่อให้ตรงกับโลกภายนอก ซึ่งการรู้ในสมองอาจไม่ตรงกันบ้างของแต่ละคน จึงต้องมานั่งคุยกันเพื่อให้เห็นว่า ต่างคนต่างก็มีความคิดเห็นเป็นของตนเอง  โลกภายนอกมีระบบเครือข่ายหรือไม่ ก็มีความเชื่อว่าน่าจะมีระบบของมัน เรารู้ได้เพียงส่วนหนึ่งและต้องหาความรู้ใหม่เรื่อยไป เพราะโลกภายนอกพัฒนาไปเรื่อย ๆ  ตัวเราเชื่อในระบบเครือข่ายการรู้ของเรา เราก็ควรเคารพระบบเครือข่ายการรู้ของผู้อื่นด้วย โดยเชื่อในจุดที่เหมือนกันซึ่งเป็นการแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพราะถือว่าจุดต่างเป็นพรสวรรค์ของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ก็เพราะความเชื่อในลักษณะเช่นนี้เป็นไปเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม

ส่วนหนึ่งจาก รวิช ตาแก้ว. (2557). ความหมายของคำ “ดีงาม” ในบริบทวัฒนธรรมไทย: การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน. วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต. มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา.

Leave a comment