กระบวนทรรศน์ 5, สัญชาตญาณ 4, พลัง 4

อ.ดร.เมธา หริมเทพาธิป

กระบวนทรรศน์ 5 เป็นทั้งหลักปรัชญาที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาปรัชญาในรูปแบบใหม่ และเป็นทั้งนวัตกรรมทางความคิดที่ถูกวางระบบคิดและเนื้อหาโดย “ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ” ราชบัณฑิตสาขาปรัชญา

การที่กล่าวว่า กระบวนทรรศน์ 5 เป็นหลักปรัชญาที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาปรัชญาในรูปแบบใหม่นั้น ก็เพราะแต่เดิม การเรียนการสอนปรัชญาในอดีตยึดหลักประวัติศาสตร์เป็นหลัก ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ปรัชญาในเชิงประวัติศาสตร์ ผู้สอนจะทำการสอนโดยเริ่มต้นจากปรัชญายุคโบราณจนถึงปรัชญาสมัยใหม่ ต่อมา ได้เกิดปรัชญาหลังสมัยใหม่หรือปรัชญาหลังนวยุค จึงถูกจัดลำดับการสอนออกเป็น 4 ช่วงสำคัญ คือ

1. ปรัชญายุคโบราณ

2. ปรัชญายุคกลาง

3. ปรัชญาสมัยใหม่หรือนวยุค

4. ปรัชญาหลังสมัยใหม่หรือหลังนวยุค

ศาสตราจารย์กีรติ เล็งเห็นว่า แท้จริงแล้วมนุษยชาติมีปรัชญาตั้งแต่เกิดมาเป็นมนุษย์และเมื่อมนุษย์เกิดความสงสัย ต้องการหาคำตอบสำคัญในเรื่องใด ก็เป็นปรัชญาของคนๆ นั้น หรือปรัชญาของคนยุคนั้น เพราะฉะนั้น มนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์เองก็มีปรัชญาเกิดขึ้นเช่นกัน เพียงแต่ไม่มีใครมาจารึกหรือจัดระบบ หรือเรียกมันว่าปรัชญาเท่านั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือจึงเพิ่มปรัชญาอีกยุคหนึ่งขึ้นมาและให้ชื่อว่า ปรัชญายุคดึกดำบรรพ์ กลายเป็นว่าปรัชญาของมนุษยชาติไม่ได้มีแค่ 4 ยุค แต่กลายเป็น 5 ยุค ได้แก่ ยุคดึกดำบรรพ์ ยุคโบราณ ยุคกลาง ยุคใหม่หรือนวยุค และยุคหลังสมัยใหม่หรือหลังนวยุค ดังที่ เมธา หริมเทพาธิป (2559, หน้า 16) ได้กล่าวไว้ว่า

 “ในวงการปรัชญาของไทย พบว่า กีรติ บุญเจือ ได้เคยทดลองสร้างกระบวนทรรศน์สำหรับตีความปรัชญาตะวันตกมาก่อนแล้ว โดยแบ่งออกเป็น 4 กระบวนทรรศน์ ตามการแบ่งประวัติปรัชญาตะวันตกและเพิ่มช่วงก่อนประวัติปรัชญาเข้าอีก 1 กระบวนทรรศน์ รวมเป็น 5 กระบวนทรรศน์ ซึ่งท่านได้เคยนำแนวคิดนี้ไปเสนอที่ประชุมโต๊ะกลม (symposium) ที่วอชิงตัน ดี.ซี. (Washington, D.C.) ตลอดทั้งได้ปรับปรุงเรื่อยมาตามลำดับ จนถึงขณะนี้ และอาจจะต้องปรับปรุงต่อไปอีกเพื่อแก้ปัญหาขัดข้องที่อาจจะพบเห็นต่อไป เพื่อให้ใช้ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาได้ลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไป”

               นอกจากนี้ ศาสตราจารย์กีรติยังได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนปรัชญาให้มีความง่ายแต่ลึกซึ้ง โดยเปลี่ยนจากการเรียนการสอนปรัชญาแบบประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติของนักปรัชญาและแนวคิดในเชิงประวัติศาสตร์ ให้เป็นการเรียนการสอนปรัชญาในเชิงกระบวนทรรศน์ ซึ่งมีความแตกต่างกันตรงที่ การเรียนการสอนปรัชญาแบบประวัติศาสตร์นั้นเปรียบเสมือนการศึกษาเรียนรู้สิ่งที่ตายไปแล้วในอดีต เป็นเสมือนการเรียนประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเรียนรู้สิ่งที่ตายไปแล้ว จึงดูไร้ชีวิตชีวา ต่างจากการเรียนการสอนปรัชญาแบบกระบวนทรรศน์ ที่เป็นการเรียนรู้กระบวนทรรศน์ในใจคน ซึ่งหมายถึง คนยุคปัจจุบันที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้

ศาสตราจารย์กีรติได้บรรยายในห้องเรียนปรัชญาและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตลอดถึงในเวทีต่างๆ ที่ถูกเชิญไปเสมอว่า การเรียนการสอนปรัชญาในเชิงกระบวนทรรศน์ เป็นการเรียนรู้ปรัชญาในใจคน กล่าวคือ ใจคนมีอยู่ 2 ห้อง คือ ห้องความคิดกับห้องห้องอารมณ์ ห้องความคิดนี้คนจะคิดถึงวิชาปรัชญาเป็นส่วนมาก ส่วนห้องอารมณ์คนจะคิดถึงวิชาจิตวิทยา แต่ถ้าศึกษาปรัชญาเชิงกระบวนทรรศน์จะสามารถศึกษาได้ทั้ง 2 อย่าง คือได้ทั้งห้องความคิดและห้องอารมณ์ ทั้งนี้เพราะกระบวนทรรศน์เป็นพื้นฐานความเชื่อในจิตใจของมนุษย์ทุกคน ดังที่ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ (2545ก, หน้า 13) เคยกล่าวว่า

 “กระบวนทรรศน์ คือ ความเชื่อพื้นฐานในจิตใจของมนุษย์ทุกคน แตกต่างกันตามเพศ วัย สิ่งแวดล้อม การศึกษาอบรม และการตัดสินใจเลือกของแต่ละบุคคล กระบวนทรรศน์ไม่ใช่สมรรถนะตัดสินใจ เพราะสมรรถนะตัดสินใจ คือ เจตจำนง แต่เป็นสมรรถนะเข้าใจ และเชิญชวนให้เจตจำนงตัดสินใจ”

               กระบวนทรรศน์ 5 ได้แก่ พื้นฐานความเชื่อ ความคิด ความรู้สึก ทัศนะ ค่านิยม ที่แสดงออกมา 5 รูปแบบ (กีรติ บุญเจือ, 2549, หน้า 15-22) ได้แก่ กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์, กระบวนทรรศน์ยุคโบราณ, กระบวนทรรศน์ยุคกลาง, กระบวนทรรศน์นวยุค และกระบวนทรรศน์หลังนวยุค

นอกจากกระบวนทรรศน์ 5 แล้ว ศาสตราจารย์กีรติยังได้พัฒนารูปแบบความคิดของปรัชญาหลังนวยุค โดยการย้อนอ่านความคิด (re-think or invent) ของนักปรัชญาคนสำคัญ 2 ท่าน ได้แก่ แอเริสทาทเทิล (Aristotle) และ ซิกมันท์ บอเมิน (Zygmunt Buaman)

ในส่วนของ แอเริสทาทเทิล (Aristotle) ได้ถูกพัฒนาความคิดในเชิงปรัชญาบริสุทธิ์และปรัชญาจริยะ โดยชี้ถึงความเป็นจริงของมนุษย์ (reality of human) ว่า มนุษย์ทุกคนมีสัญชาตญาณ 4 อย่าง ได้แก่ สัญชาตญาณสสาร สัญชาตญาณพืช สัญชาตญาณสัตว์หรืออารักขายีน และสัญชาตญาณปัญญา ทั้ง 4 สัญชาตญาณนี้มีความเชื่อมโยงกับเรื่องความสุขจึงเป็นปรัชญาจริยะ กล่าวคือ สัญชาตญาณ 4 อย่างให้ความสุขใน 4 รูปแบบ ได้แก่

1. ความสุขแบบสสาร เป็นความสุขของสัญชาตญาณสสาร ศาสตราจารย์กีรติได้เปรียบเทียบสัญชาตญาณนี้เหมือนก้อนหิน ก้อนหินมันชอบอยู่นิ่งๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มันไม่ชอบยุ่งกับใคร ไม่ชอบบริหารใคร มันมีความสุขที่ได้อยู่เฉยๆ เมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์จึงเป็นลักษณะของคนขี้เกียจ ไม่มีจิตอาสา คิดถึงแต่ตัวเองหรือเห็นแก่ตัว ไม่ชอบบริการใครแต่อาจชอบให้คนมาบริการตนเอง เป็นคนกลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่เคยคิดที่จะก้าวออกจากกะลาใบเดิมเพื่อเรียนรู้ความเป็นจริงของโลกภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา ชีวิตจึงไม่เกิดการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น ไม่มีความสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนเองและสังคม

2. ความสุขแบบพืช เป็นความสุขของสัญชาตญาณพืช พืชนั้นมีชีวิตจึงต่างกับก้อนหินที่ไร้ชีวิต เมื่อเมล็ดพืชตกลงสู่ดิน รากที่อยู่ในเมล็ดพืชจะพยายามแทงลงไปในพื้นดิน และเมื่อรากสามารถหยั่งลงในดินอันอุดมด้วยสารต่างๆ แล้ว มันจะพยามสูบหรือดูดแร่ธาตุต่างๆ ในบริเวณนั้นเข้ามาหล่อเลี้ยงให้มันรอดพ้นจากความตาย ธรรมชาติของพืชไม่ได้สนใจว่าพืชชนิดต่างๆ หรือแม้แต่ชนิดเดียวกันกับมันจะเหี่ยวเฉาตายเพราะขาดสารอาหารหรือไม่ ตรงกันข้าม มันจะคิดถึงแต่ตัวมันเองโดยพยายามกอบโกยผลประโยชน์เข้าสู่ตัวมันให้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์จึงเป็นลักษณะของคนที่รักตัวกลัวตายโดยธรรมชาติ โดยไม่เห็นใจคนอื่นว่าต่างก็รักตัวกลัวตายต่างอะไรกับตนเอง คือ ไม่เห็นใจเขาใจเรา คิดแต่จะกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวให้มากที่สุด ความสุขที่ได้กอบโกยเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเช่นนี้จึงเป็นผู้แสวงหาความสุขเหมือนพืช มีความสุขตามสัญชาตญาณพืช ได้เท่าไหร่ไม่เคยพอ ยิ่งลำต้นใหญ่ใบเยอะ รากก็ยิ่งแข็งแรง แตกกระจายรากฝอยขยายออกไปเรื่อยๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น ใครจะได้รับทุกข์หรือความเดือดร้อนอย่างไรไม่สนใจใยดี

3. ความสุขแบบสัตว์ เป็นความสุขของสัญชาตญาณสัตว์ พูดให้ไพเราะขึ้นก็เรียก สัญชาตญาณอารักขายีน ซึ่งต่างจากสสารและพืช สสารมันไม่สนใจหาความสุขด้วยการอารักขายีน พืชก็เช่นกัน แม้ว่าพืชบางชนิดจะมีดอก เช่น ดอกไม้ ดอกหญ้า เป็นต้น หรือมีเมล็ดต่างๆ เพื่อการขยายพันธุ์ แต่โดยธรรมชาติของพืชไม่มีพลังแสวงหาความสุขจากการร่วมเพศ แม้แต่พืชชนิดเดียวกันกับมันเองมันก็ไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นพวกพ้องร่วมวงศ์สกุลเดียวกันหรือยีนเดียวกัน มันมุ่งแต่กอบโกยผลประโยชน์เข้าหาตัวเองเพื่อให้มันรอดและได้เปรียบผู้อื่นไปวันๆ เท่านั้น ดังนั้น แม้ว่าพืชจะมีเกสรดอกไม้ มีเกสรตัวผู้ มีเกสรตัวเมีย แต่ก็ต้องแมลง ภู่ ผึ้ง หรืออาศัยลมช่วยพัดเกสรตัวผู้ตัวเมียให้มาผสมพันธุ์กันเพื่อรักษาพันธุ์พืชให้คงอยู่ เมล็ดพืชจากต้นไม้ก็เช่นกัน ต้องอาศัยนก อาศัยกาจิกกินเมล็ดแล้วคาบเอาไปทิ้งในที่ต่างๆ เพื่อขยายเขตแดนของพืชชนิดนั้นไปยังพื้นที่อื่นๆ เพราะหากมันตกลงในบริเวณต้นของมัน มันอาจไม่มีโอกาสได้เติบโตเพราะไม่อาจแข่งกับต้นไม้ใหญ่ที่เป็นแม่มันได้ คือ ดูดกินสารอาหารไม่สู้ต้นไม้ใหญ่ หรือแม้วามันจะเกิดขึ้นมาได้ ลำต้นก็จะแคระแกรน ไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่

ดังนั้น ความสุขของพืชที่ชอบกอบโกยผลประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวจึงต่างจากความสุขของสัตว์ที่ได้อารักขายีน สืบทอดเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่ เราสามารถสังเกตได้จากการร่วมเพศของสัตว์ มันมีความสุขที่ได้ร่วมเพศเมื่อได้เข้าสู่วัยหนุ่มสาว บางครั้ง สัตว์ตัวผู้ต้องต่อสู้กันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งสัตว์ตัวเมีย บางครั้งหลังการต่อสู้ สัตว์ตัวผู้อาจตายทั้งคู่ แต่ถ้ารอดพ้นจากความตาย ตัวที่ชนะการต่อสู้ก็จะได้ครอบครองเป็นเจ้าของสัตว์ตัวเมีย มีโอกาสได้สืบทอดเผ่าพันธุ์ของตนเอง สัตว์ตัวผู้บางชนิดครอบครองสัตว์ตัวเมียมากกว่า 1 ตัวขึ้นไป ด้วยพลังอำนาจและความแข็งแกร่งที่เหนือกว่าจึงได้รับหน้าที่ปกปักรักษาและให้ความคุ้มครองสัตว์ตัวเมียรวมทั้งลูกๆ ของมัน และขยายขอบเขตการปกครองของมันกว้างขวางขึ้นไปเรื่อยๆ สัตว์บางชนิด เช่น ม้า มันขวนขวายในเรื่องการผสมพันธุ์ ธรรมชาติได้มอบพรสวรรค์ด้านการดมกลิ่นให้กับมัน ม้าตัวผู้สามารถได้กลิ่นม้าตัวเมียได้ถึง 16 กิโลเมตร โดยเฉพาะม้าตัวเมียในวัยเจริญพันธุ์ เมื่อมันได้กลิ่นมันจะไม่รอช้าและจะรีบเคลื่อนที่ไปหาตัวเมียอย่างไม่รีรอ เพราะแรงขับจากภายในที่เกิดจากการรับรู้ทำให้มันตอบสนองตามสัญชาตญาณอารักขายีนตามธรรมชาติของสัตว์ที่มีความสุขตามสัญชาตญาณอารักขายีน

นอกจากเรื่องการผสมพันธุ์แล้ว สัญชาตญาณอารักยีนยังแสดงออกในลักษณะของการปกปักษ์รักษาหรือปกป้องพวกพ้อง เช่น กรณีที่แม่แก่หวงลูกไก่ เวลาที่ใครจะเข้าไปจับลูกไก่ แม่ไก่จะเกิดความทุกข์เพราะห่วงลูกไก่ มันจะพุ่งเข้าไปจิกคนที่เข้าไปยุ่งกับลูกของมัน หรือในกรณีที่แม่วัวกระทิงไล่ขวิดสิงโตที่เข้าไปกัดลูกมันโดยหวังจะกินเป็นอาหาร ทั้งที่จริงแล้ววัวกระทิงจะกลัวสิงโตมากในฐานะผู้ล่ากับผู้ถูกล่า แต่เพราะความรักลูก มันจึงอาจเสี่ยงอันตรายเพื่อเข้าไปปกป้องลูกของมัน มันยอมตายแทนลูกเพื่อรักษายีนของมันไว้ให้ดำรงอยู่ต่อไป และบางครั้งเพื่อนของมันเองเมื่อเห็นว่าเพื่อนของมันเข้าไปช่วยลูก ฝูงวัวกระทิงใจกล้าจะใช้สัญชาตญาณอารักขายีนข่มความกลัวแล้วเข้าไปปกป้องพวกพ้องของมันด้วยเขาแหลมและพละกำลังที่มันมี จนบางครั้งสิงโตผู้ล่าต้องถอยกระเจิงเพราะโดนวัวกระทิงรุมขวิด

เมื่อเปรียบเทียบกับมนุษย์จึงเป็นลักษณะของคนที่ฝักใฝ่ในกามเป็นสำคัญ มุ่งหาความสุขเฉพาะที่ตอบสนองกามารมณ์หรืออารมณ์ทางกาม ชอบร่วมเพศ ชอบเปลี่ยนคู่นอน ชอบมีชู้ มีเมียมีผัวหลายคน โดยเจตนานั้นเป็นไปเพื่อสนองความอยากทางกามที่ไม่สิ้นสุด ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการปกป้องคุ้มครองดูแลและให้ความอบอุ่นหรืออ่อนโยนซึ่งกันและกัน ในทางการเมืองก็เป็นลักษณะของการเล่นพรรคเล่นพวกทั้งในกลุ่มสมาชิกทางสังคม ทั้งในหน่วยงานองค์กรต่างๆ ทั้งใน ในสภาการเมือง โดยจะเอื้อผลประโยชน์และอำนาจเฉพาะพวกพ้องของตนเท่านั้น แม้จะต้องใช้กำลังหรือความรุนแรงเข้าไปทำร้าย ประหัตประหารกันก็ตามที

4. ความสุขแบบมนุษย์ เป็นความสุขของสัญชาตญาณปัญญา อันเป็นคุณสมบัติที่แท้จริงที่มีในมนุษย์เท่านั้น ส่วนสสาร พืช และสัตว์นั้นหามีไม่

“สสาร” ไม่มีสัญชาตญาณพืช ไม่มีสัญชาตญาณสัตว์ ไม่มีสัญชาตญาณปัญญา มันมีเพียงสัญชาตญาณในตัวมันเอง ความสุขที่มันได้รับและยึดติดอยู่จึงเป็นเพียงความสุขในระดับสัญชาตญาณสสารหรือสัญชาตญาณก้อนหินเท่านั้น

“พืช” มีสัญชาตญาณสสารอยู่ในตัวของมัน และสัญชาตญาณพืชซึ่งเป็นสัญชาตญาณของมันเอง ในตัวของมันไม่มีสัญชาตญาณสัตว์ ไม่มีสัญชาตญาณปัญญา มันจึงมีความสุขที่ได้รับผลประโยชน์ ผลประโยชน์จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่มันรับได้ บางคนอาจแย้งว่า กาฝากเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อต้นไม้แต่ทำไมต้นไม้ถึงยอมให้กาฝากอยู่ หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า การที่ต้นไม้ไม่ทำการปล่อยสารอะไรบางอย่างออกมาเพื่อฆ่ากาฝากให้ตายนั้นมันอาจจะเป็นเพราะกาฝากยังเป็นประโยชน์กับมันในบางเรื่อง เช่น กลิ่นของกาฝากอาจไล่แมลงบางชนิดที่เป็นภัยต่อต้นของมัน เป็นต้น เมื่อผลประโยชน์ลงตัวมันจึงไม่ต้องทุกข์ร้อน เพราะเป็นความสุขในระดับสัญชาตญาณพืชด้วยกัน แต่การที่มันไม่รู้ว่าในวันหนึ่งมันอาจต้องตายเพราะกาฝากนั้นเป็นเพราะมันขาดสัญชาตญาณปัญญาซึ่งมีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น มันจึงไม่สามารถวิจักษ์ (ประเมินค่า) ได้ว่าอะไรเป็นคุณอะไร-เป็นโทษ อะไรเป็นคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม

“สัตว์” มีสัญชาตญาณสสารและสัญชาตญาณพืชอยู่ในตัว รวมทั้งสัญชาตญาณอารักขายีนของมัน ในขณะที่สัญชาตญาณสสารและสัญชาตญาณพืชไม่มีสัญชาตญาณอารักขายีนเหมือนกับมัน แต่มันก็ไม่มีสัญชาตญาณปัญญาได้เหมือนมนุษย์ มีแต่เรื่องของการรับรู้และตอบสนองตามธรรมชาติของสัตว์เท่านั้น ดังนั้น สัตว์จึงมีความสุขได้ทั้งแบบสสาร พืช และการอารักขายีน ยกเว้นแบบมนุษย์

“มนุษย์” มีสัญชาตญาณสสาร สัญชาตญาณพืช และสัญชาตญาณสัตว์อยู่ในตัว แต่สัญชาตญาณแท้จริงของมนุษย์ ที่มีเฉพาะมนุษย์เท่านั้น ก็คือ “สัญชาตญาณปัญญา” ที่เรียกว่า สัญชาตญาณแท้จริงของมนุษย์ก็เพราะสัญชาตญาณปัญญานี้ไม่มีในสสาร พืช และสัตว์ แม้ว่าสัตว์จะมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ที่สุดแต่สัตว์ก็ไม่สามารถตั้งคำถามเชิงตรรกะและวิเคราะห์หาคำตอบได้อย่างมนุษย์ ดังนั้น สมรรถนะคิดของมนุษย์จึงทำให้มนุษย์สามารถวิเคราะห์ได้ สังเคราะห์ได้ ยืนยันความคิดได้ว่าจริงหรือเท็จ ใช่หรือไม่ ทำได้หรือทำไม่ได้ ควรหรือไม่ควร เป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นคุณค่าแท้หรือคุณค่าเทียม จนถึงที่สุดแล้วมนุษย์มีความสามารถถึงขั้นหยั่งรู้ได้ด้วย และการหยั่งรู้ที่ยอมรับว่าสูงที่สุดก็คือการหยั่งรู้ของศาสดา

กีรติ บุญเจือ (2556, หน้า 59-62) กล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์มักรู้” (Homo Curiosus) เนื่องจากมนุษย์มีปัญญา และมีสัญชาตญาณปัญญาคือ มีความสุขสูงสุดด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิต สัญชาตญาณมักรู้เป็นกระบวนการขั้นแรกสุดของการพัฒนาคุณภาพปัญญา อันเป็นปัจจัยจำเป็นและพอเพียง (necessary and sufficient cause) ของการมีความสุขสุดยอดของความเป็นมนุษย์ จึงควรรู้ขั้นตอนการเกิดความรู้จนถึงขั้นมีความสุขในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

สัญชาตญาณปัญญาเริ่มจากสัญชาตญาณมักรู้ ปัจจัยรู้พื้นฐานสุดคือการสัมผัส หากสิ่งที่สัมผัสกันไม่มีอุปกรณ์รับรู้ เหมือนก้อนหิน 2 ก้อนทับกันอยู่นานเท่าใดก็ไม่เกิดความรู้ เพราะก้อนหินทั้ง 2 ก้อนไม่มีอุปกรณ์รับรู้การสัมผัส แต่คนนอนบนก้อนหิน แม้ก้อนหินจะไม่รับรู้การสัมผัสเพราะไม่มีอุปกรณ์รับรู้ ส่วนคนที่นอนบนก้อนหิน (หรือถูกก้อนหินทับ) ย่อมมีความรู้ว่ามีก้อนหินอยู่ข้างล่างหรือทับอยู่ข้างบน เพราะคนมีอุปกรณ์รับรู้ นอกจากมีอุปกณ์รับรู้ยังมีอุปกรณ์ตีความการรับรู้อีกด้วย และมนุษย์มีอุปกรณ์ตีความถึง 5 ด้านจากการรับรู้ความมีอยู่ในลักษณะต่างๆ กัน 5 แบบ คือ แบบประชิด (ด้านผิวกาย) แบบคลื่นแสง (ด้านเรตินาของตา) แบบคลื่นเสียง (ด้านเยื่อแก้วหู) แบบสารละลายในปาก (ด้านปุ่มประสาทลิ้น) แบบสารกระจายฟุ้ง (ด้านปุ่มประสาทในรูจมูก) ตีความออกมาเป็นความรู้สึกหลายอย่างของผิวกาย สี เสียง รส กลิ่น รวมเรียกว่าประสบการณ์ทางผัสสะ ถูกส่งเข้าไปเก็บรวมไว้ในหน่วยความจำของมันสมอง ความรู้ที่ได้มาในขั้นนี้เรียกว่าข้อมูล (datum, -a) หน่วยความจำมีกลไกคัดเลือกข้อมูลใดที่รับรู้และคัดเลือกเก็บไว้เพราะตรงกับความสนใจ หากสนใจมากก็จะหาเคล็ดลับเก็บไว้นานาๆ โดยจำให้ความสัมพันธ์กับข้อมูลที่มีอยู่ก่อน หาหกสนใจน้อยก็เก็บไว้ชั่วคราวแล้วก็ลืมเสียเพื่อมีหน่วยความจำเตรียมพร้อมสำหรับรับข้อมูลใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากกว่า หากไม่น่าสนใจเลยก็จะปล่อยให้ค่อยๆ ลืมเลือนไปเสียเพื่อมิให้รกสมองเปลืองเนื้อที่หน่วยความจำซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด

หากสิ่งที่สนใจใหม่นั้นจริงๆ หาความสัมพันธ์กับสิ่งที่มีอยู่ในหน่วยความจำไม่ได้เลยก็จะเก็บไว้อย่างโดดเดี่ยวไปก่อน คอยให้มีสิ่งใหม่ที่มีความสัมพันธ์กันสักด้านหนึ่งเข้ามา กลไกของหน่วยความจำก็จะจัดให้เข้าเป็นกลุ่มสัมพันธ์กัน และคอยข้อมูลใหม่มาจับกลุ่มเพิ่มต่อไป

หากกลไกของสมองพบว่ามีข้อมูลที่สัมพันธ์ในทางเป็นเหตุผลต่อกัน (argument) ก็จะจัดที่ให้ต่างหากให้จับกลุ่มกันเป็นระบบเครือข่าย (network) คือสนับสนุนกันและกันทำให้เกิดความมั่นใจในความจริงของทั้งคู่ ข้อมูลดังกล่าวแต่ละข้อมูลได้ชื่อว่า ปมข่าย (net point) และความเชื่อมโยงในฐานะเป็นเหตุเป็นผลของกันเรียกว่า ใยข่าย (net line) 2 อย่างรวมเรียกว่าเครือข่าย (network) ซึ่งสามารถเพิ่มได้มากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา หรือปัญญาคิดสร้างสรรค์แบบขยายผลด้วยการใช้เครือข่ายที่มีอยู่สันนิษฐานความรู้ใหม่ในลักษณะขยายเครือข่ายออกไปได้รอบทิศทาง เป็นความรู้เฉพาะตัวที่สัมพันธ์กันเป็นเครือข่าย ทำให้เป็นฐานของความรู้เฉพาะตัว รวมกันเป็นจุดยืนเฉพาะตัว ต่อจากนั้นไปข้อมูลใดที่เข้ามาเพิ่มเครือข่ายนี้ได้ก็ถือว่าเป็นความรู้ที่น่าสนใจทันที

ความสำคัญของระบบเครือข่ายส่วนตัวนี้ก็คือ

1. เป็นจุดยืนหรือมุมมองที่ใช้สำหรับตัดสินข้อมูลใหม่ว่าน่าเชื่อถือและน่าสนใจมากน้อยเพียงใด

2. ระบบเครือข่ายทั้งระบบเป็นขอบข่ายของความรู้ที่น่าเชื่อถือส่วนตัวก็จริง โดยที่คนเราแต่ละคนมีระบบเครือข่ายเฉพาะตัว ชนิดไม่มีระบบเครือข่ายใด 2 ระบบเหมือนกันทุกประการ (ซึ่งหมายถึงว่ามีจุดสนใจเหมือนกันทุกประการและมีประสบการณ์ชีวิตอันเป็นแหล่งข้อมูลเหมือนกันทุกประการ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้) ทำให้แต่ละคนมีความคิดเฉพาะตัวอย่างสมบูรณ์

3. ระหว่างระบบเครือข่ายของความรู้ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตัวดังกล่าว หากได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยวิธีสานเสวนา จะพบว่า มีส่วนหนึ่งเหมือนกัน และส่วนที่ไม่เหมือนกัน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่คู่เปรียบ

4. ส่วนที่เหมือนกันในระบบเครือข่ายความรู้ จึงเป็นฐานจำเป็นสำหรับการร่วมมือกันอย่างน่าสนใจ และมีประสิทธิภาพในการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่กันและกัน และได้ผลอันเป็นประโยชน์แก่สังคมทุกระดับ

5. ส่วนที่ต่างกันก็ไม่อาจใช้เป็นฐานให้ร่วมมือกันนั้น สำหรับผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบยึดมั่นถือมั่นมักจะเป็นชนวนหรือสาเหตุแห่งการแตกแยกและวิวาทกัน แต่สำหรับผู้ปรับเปลี่ยนเป็นกระบวนทรรศน์แห่งการไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว กลับกลายเป็นจุดยกย่องกันขึ้นเป็นพรสวรรค์ของแต่ละคน ซึ่งทุกคนพึงยกย่องและสนับสนุนให้ผู้มีพรสวรรค์ได้รับความสะดวกในการใช้พรสวรรค์สร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์แก่สังคมทุกระดับและเป็นความก้าวหน้าของมนุษยชาติโดยส่วนรวม

6. ระบบเครือข่ายความรู้ของแต่ละคนเป็นสมบัติส่วนตัวและเฉพาะตัว และมีความสุขเฉพาะตัวตามคุณภาพชีวิตเฉพาะตัวชนิดที่ไม่มีใครมีเหมือน ไม่ว่าในอดีตและอนาคต หากโอกาสนี้สูญเสียไปก็จะไม่มีใครทำแทนหรือซ้ำได้ตลอดกาล เป็นเรื่องส่วนตัวและเฉพาะตัวจริงๆ

นอกจากนี้ สัญชาตญาณปัญญาของมนุษย์ยังแสดงออกใน 4 ลักษณะ คือ สร้างสรรค์ ปรับตัว ร่วมมือ และแสวงหา การแสดงออกมาซึ่งสัญชาตญาณปัญญานี้ ศาสตราจารย์กีรติเรียกว่า “พลัง 4” ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดของ ซิกมันท์ บอเมิน (Zygmunt Buaman) ซึ่งเป็นนักจริยศาสตร์หลังนวยุคคนสำคัญ บอเมิน สนอแนวคิดเรื่องจริยศาสตร์แห่งการดูแล (Ethics of Care) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นมโนทัศน์หนึ่งที่สำคัญของของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 วีรชัย ยศโสธร (2558, หน้า 156-157) กล่าวว่า

 “บอเมินได้เสนอพลังแห่งการสร้างสรรค์ ปรับตัว และร่วมมือเอาไว้ ซึ่งต่อมาพบว่า ได้มีนักปรัชญาไทย คือ ศ.กีรติ บุญเจือ ราชบัณฑิตสาขาปรัชญา นำแนวคิดเรื่องการดูแล (Caring) มาพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นทฤษฎีพลังทั้ง 4 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองและสรรพสิ่งให้มีความสุขตามความเป็นจริงของแต่ละสิ่ง โดยได้เพิ่มพลังแห่งการ “แสวงหา” เข้ามา เพื่อให้เกิดภาวะการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างไร้ขีดจำกัด (Becoming) การดูแลจึงแสดงออกด้วยการสร้างสรรค์ (Creativity) ปรับตัว (Adaptivity) ร่วมมือ (Collaborativity) และแสวงหา (Requisitivity)”

               กีรติ บุญเจือ (2556, หน้า 71) กล่าวว่า

การดูแลคือการสนใจในความสุขและความทุกข์ของตนเอง/ของผู้อื่น/ของสิ่งต่างๆ ด้วยความคิด/ด้วยภาษา/ด้วยการกระทำ ทุกครั้งที่มีการดูแลดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้น ย่อมหมายถึง การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีความสุขของผู้ดูแล มีศักยภาพที่จะบัลดาลความสุขแท้ตามความเป็นจริงแก่ผู้ที่ถูกดูแลตามระดับความจริงของสิ่งนั้น กล่าวคือ วัตถุได้ความสุขตามสัญชาตญาณคงที่ พืชตามสัญชาตญาณชีวิต สัตว์ตามสัญชาตญาณอารักขายีน และมนุษย์ตามสัญชาตญาณปัญญา”

               ความสนใจในความสุขและความทุกข์ของผู้อื่น/สิ่งอื่น สามารถทำได้ใน 4 ลักษณะตามกาละและเทศะที่เหมาะสม คือ

            1. พลังสร้างสรรค์หรือการสร้างสรรค์ (Creativity) การสร้างสรรค์คือการคิดหรือทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นการเพิ่มความก้าวหน้าแก่มนุษยชาติ เปิดโอกาสให้มีการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์โดยทั่วไป แต่ถ้าเกิดโทษก็ต้องการปรับตัว

2. พลังปรับตัวหรือการปรับตัว (Adaptivity) คือ การดัดแปลง การประยุกต์ใช้ให้มีคุณ ปราศจากโทษ หรือดัดแปลงโทษให้เป็นคุณ เช่น ดัดแปลงน้ำท่วมทำลายให้เป็นการกักน้ำในแก้มลิงไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง เป็นต้น

3. พลังร่วมมือหรือการร่วมมือ (Collaboration) เป็นการประสานความร่วมมือ หรือการมีส่วนร่วม (participation) ซึ่งมีอยู่หลายระดับ กีรติ บุญเจือ กล่าวว่า “การร่วมมือได้ ทำปาฏิหาริย์ให้ 1+1 = มากกว่า 2 อยู่เสมอ”

4. พลังแสวงหาหรือการแสวงหา (Requisitivity) เป็นศักยภาพทางปัญญาที่สามารถคิดค้นหาสิ่งที่ขาดหายมาเพิ่มเติมให้กับชีวิตอยู่เสมอ พลังแห่งการแสวงหานี้นอกจากจะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในโลกนี้แล้ว ยังมีศักยภาพในการสามารถเข้าใจถึงโลกหน้าด้วยการหยั่งรู้อีกด้วย ดังที่ กีรติ บุญเจือ ( 2556, หน้า 72) กล่าวว่า

 “ปัญญาของมนุษย์มีศักยภาพที่จะคิดเข้าใจถึงโลกหน้าด้วย จึงไม่ควรละเลย เพราะเพิ่มคุณภาพความสุขแก่ผู้แสวงหาอย่างถูกต้อง”

Leave a comment