ปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิจารณญาณ

อ.ดร.รวิช ตาแก้ว

กระบวนการวิจารณญาณเป็นแนวคิดและวิธีการมองประเด็นปัญหาของนักปรัชญาในยุคต่าง ๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้ตามหลักการของปรัชญาหลังนวยุคสายกลาง โดยมีแนวคิดปรัชญาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

แนวคิดปรัชญาของคานท์ (Immanuel Kant, 1724 – 1804) คานท์ได้แสดงความคิดเห็นในหนังสือ วิจารณ์เหตุผลบริสุทธิ์ (Critique of Pure Reason, 1780) ไว้ว่า ความรู้วิทยาศาสตร์ทั้งหลายแบ่งเนื้อหาออกได้เป็น 3 เรื่องคือ กฎ ความเป็นสาเหตุ และเหตุผล ทั้งสามประเด็นเป็นการกำหนดของโครงสร้างสมอง ซึ่งให้ความรู้แน่นอนแก่ความรู้เหล่านี้ แต่ทว่าโครงสร้างสมองบิดเบือนแปรสภาพจากความเป็นจริงจนไม่อาจจะรู้ได้ว่า ความเป็นจริงเป็นอย่างไร ความรู้จึงเป็นเพียงความแน่นอนที่เกิดขึ้นในสมอง แต่ไม่ได้ให้ความเป็นจริง เพราะถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริงโดยโครงสร้างของสมอง ความรู้ของเรามีจุดเริ่มต้นจากภายนอก ต้องผ่านกลไกในสมองของเราเป็นขั้น ๆ แต่ละขั้นให้ความรู้แก่เราในระดับต่าง ๆ กัน แต่ละขั้นเรียกว่า แบบของความรู้ (form of knowledge) มีอยู่ 3 ขั้น ความรู้จึงแบ่งได้เป็น 3 ระดับ  ดังนี้   

1)  ความรู้ระดับประสบการณ์ (Experiential Knowledge) ผ่านกลไกขั้นแรกเรียกว่า แบบแห่งความรู้สึก (Pure Forms of Sensibility) มีอยู่ 2 ขั้น คือ ห้วงเทศะและเวลา (Space and Time) ได้ความรู้เป็นประสบการณ์เฉพาะหน่วย (particular)

2) ความรู้ระดับวิชาการ (Scientific Knowledge) เป็นความรู้สากล ผ่าน 12 แบบแห่งความเข้าใจ (Pure Forms of Understanding) ซึ่งมี 4 ชั้น ๆ ละ 3 ช่อง เพื่อได้ความรู้ระดับความเป็นจริง (Noumena) ได้ความรู้เฉพาะหน่วยและความรู้สากล เท่าที่ปรากฎแก่ปัญญาของเรา

3)  ความรู้ด้วยญาณหยั่งรู้โดยตรง (Intuitive Knowledge) เป็นความรู้ด้วยญาณหยั่งรู้พิเศษที่เข้าถึงความเป็นจริงตรง ๆ ไม่มีกลไกมาบิดเบือน ทำให้เรารู้ว่าต้องมีตัวเราซึ่งเป็นตัวคงตัวยืนหยัดรับความรู้ต่าง ๆ ตลอดอายุขัย (Transcendental Ego) เป็นความรู้จากประสบการณ์ศาสนาเท่านั้น

ปัญญาตามแนวคิดคานท์มีสมรรถภาพ 3 อย่าง คือ 1) เหตุผลบริสุทธิ์ (pure reason) สำหรับรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องผ่านโครงสร้างของปัญญา  2) เหตุผลปฏิบัติ (practical reason) สำหรับรู้ศีลธรรมและศาสนา ไม่มีกลไก แต่เข้าสัมผัสกับความจริงโดยตรง เป็นความรู้แบบอัชฌัตติกญาณ (intuition) คือ เห็นแจ้งในกฎศีลธรรมและสิ่งเหนือธรรมชาติโดยตรง ใครเห็นแจ้งเรื่องใดก็รู้แต่เพียงว่าต้องปฏิบัติอะไร (Duty to be done) โดยไม่ใช้เหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น เห็นวาบเหมือนมโนธรรมสั่งอย่างเด็ดขาด (category imperative) ทำได้ก็จะสบายใจ ทำไม่ได้ก็ไม่สบายใจ 3) เหตุผลการตัดสิน (Judgement reason) เป็นสมรรถภาพที่ทำหน้ารับรู้สุนทรียภาพและเป้าหมายของชีวิต กำหนดบทบาททำการเชื่อมต่อระหว่างโลกแห่งความจำเป็นกับโลกแห่งเสรีภาพ

แนวคิดปรัชญาของโซสซืร์ (Ferdinand de Saussure, 1857 – 1913)  มีแนวคิดว่า ภาษาไม่ได้เกิดจากหน่วยย่อย (คำ) มารวมกันอย่างที่นักนวยุคต้องการ แต่ภาษาเป็นความต้องการของสังคมก่อน สังคมต้องการเครื่องมือสื่อความหมาย จึงลองผิดลองถูกใช้เสียงสื่อกันให้ได้ตามความต้องการแต่ละครั้ง ครั้นสื่อได้มาก ๆ เข้าก็เป็นภาษาหนึ่ง ๆ ผู้ใช้ภาษาแต่ละครั้งไม่สนใจว่าเสียงหรือเครื่องหมายที่นำมาใช้นั้นสื่อความเป็นจริงภายนอกหรือไม่ มุมมองในการตีความจึงไม่ควรยึดถือภาษาตามโครงสร้างมากนัก แม้ว่าโครงสร้างของภาษาทุกภาษามีโครงสร้างเหมือนกัน คือ ประกอบด้วยประธาน (Subject) และกรรม (Object) แต่ควรสนใจว่า คำที่ใช้นั้นตรงตามความหมายที่ต้องสื่อสารหรือไม่

แนวคิดปรัชญาของชลายเออร์มาเคอร์ (Friedrich Schleiernacher, 1768 -1834) มองว่าการตีความนั้นให้แยกตีความเป็น 2 ระดับคือ 1) ระดับไวยากรณ์ (grammatical interpretation) หรือเรียกว่าตีความตามตัวอักษร 2) ระดับจิตวิทยา (psychological interpretation) คือ การเดาใจผู้แต่ง โดยเดาจากการรู้เบื้องหลังและสภาพจิตใจของผู้แต่งขณะแต่งเรื่องนั้น ๆ โดยพิจารณาไปถึงบริบททางสังคมที่ผู้แต่งสังกัดด้วย

แนวคิดปรัชญาของดิลเธย์ (Wilhelm Dilthey, 1833 – 1911) ได้ให้แนวคิดไว้ว่า การตีความควรแยกวิธีการของวิชามนุษยศาสตร์ (ซึ่งรวมศาสนาด้วย) ออกจากวิธีการวิทยาศาสตร์ เพื่อให้วิชา 2 วิชานี้ร่วมกันแบ่งส่วนความจริง (truth) โดยไม่แข่งขันกันและไม่ขัดแย้งกัน แต่แบ่งส่วนความรู้ในระบบเดียวกันเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน จึงใช้วิธีการวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือค้ำประกันความจริงวิทยาศาสตร์ ส่วนสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ต้องใช้การตีความภาษาเพื่อให้เข้าใจความหมาย (อรรถปริวรรต; Hermeneutics) การตีความเป็ฯการพยายามเข้าใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามขอบฟ้าของตน (Horizon)

แนวคิดปรัชญาของฮุสเซิร์ล (Edmund Husserl, 1859 – 1938)  ได้ให้คำแนะนำเชิงหลักการไว้ว่า ผู้สังเกตการณ์พึงใส่โลกไว้ในวงเล็บ (let the observer put the world in brackets) คือ ระงับการแยกผู้คิดจากสิ่งที่ถูกคิด (subject and object) ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า วิธีลดทอนปรากฏการณ์วิทยาเชิงจิตวิทยา (psychological phenomenological reduction) เพื่อดูว่าโลกปรากฏแก่เราอย่างไร โดยไม่ให้การตีคุณค่าอะไรทั้งสิ้นแทรกแซงเข้ามาในการรับรู้ปรากฏการณ์นั้นด้วย แขวนปฐมบท (epoche) อันเป็นการสงสัยความเชื่อพื้นฐานทั้งหมด ยอมรับว่ามีปัญญาแสวงวัตถุ (intentionality) นั่นคือ ความคิดทั้งหลายต้องคิดอะไรสักอย่าง จึงมีผู้คิดและวัตถุแห่งความคิดที่ถูกคิดถึง ให้ฝึกใจให้เป็นกลาง แล้วเฝ้าดูว่าเราจะเข้าใจสารัตถะของสิ่งต่าง ๆ

แนวคิดปรัชญาของฮายเดกเกอร์ (Martin Heidegger, 1889 – 1976)มีความคิดว่า มนุษย์เป็นอยู่ได้ในฐานะมนุษย์ก็โดยการตีความหมาย และให้ความคิดเห็นไว้ว่า ความรู้เป็นความจริงสัมพัทธ์ (relational truth) ระหว่างภาวะต่าง ๆ ในโลก ที่ต่างก็แสวงหาความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวเองและโลก ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างไม่มีเส้นแบ่ง ความรู้ที่เป็นความจริงจึงเป็นผลของการสร้างสรรค์จากการตีความเชิงสัมพันธ์ (relativistic hermeneutics) การตีความจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตามความเป็นอยู่ของผู้ตีความเอง การตีความจึงเป็นการค้นพบตัวเองในโลกที่มีผู้อื่นร่วมอยู่ด้วย

แนวคิดปรัชญาของกาดาเมอร์ (Hans Georg Gadamer, 1900-2002) กาดาเมอร์ให้ความคิดไว้ว่า กระแสพหุนิยม (Pluralism) เป็นเรื่องเดียวกันกับการตีความ สามารถตีความได้หลายมุมมองหรือบริบทวัฒนธรรม จึงควรแลกเปลี่ยนทัศนะแก่กันโดยใช้ภาษาเป็นสื่อ ซึ่งต้องรู้จักหลักการตีความเพื่อให้บรรลุ “การผสานขอบฟ้า” (fusion of horizons) เพื่อขยายขอบฟ้าของกันและกัน

แนวคิดของเกิทซ์ (Clifford Geertz, 1926 – 2006) สนใจการตีความวัฒนธรรม โดยนิยามวัฒนธรรมว่าเป็น ระบบของสัญญะที่ทำให้เกิดรูปแบบของการใช้ชีวิตของมนุษย์ (a system of symbols that gives shape to a human life) และนิยามสัญศะไว้ว่า เป็นเครื่องหมายที่มนุษย์กำหนดขึ้นจากความพอใจร่วมกัน (sign human-made, arbitrary, convention and shared)

แนวคิดปรัชญาของซาตร์ (Jean-Paul Sartre, 1905 – 1980) ด้ให้หลักคิดที่เป็นบทบัญญัติ 3 ข้อของ อัตถิภาวะโดยตนเอง คือ 1) กล้าเผชิญปัญหา (seeing) 2) กล้าประเมินวิธีปฏิบัติ (judging)  3) กล้าลงมือทำการด้วยความรับผิดชอบ (acting) ซึ่งเป็นหลักการของลัทธิอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) และเป็นส่วนหนึ่งของหลักคิดที่ให้ยึดถือคุณค่าของความเป็นมนุษย์

แนวคิดของนักปรัชญา 9 ท่านนี้มีบทบาทอย่างมากในการเข้าถึงหลักของปรัชญาหลังนวยุค และทำให้ยอมรับกันว่า ต้องใช้หลักวิจารณญาณ (วิเคราะห์ วิจักษ์ วิธาน) เพื่อเข้าใจความเป็นจริงและได้ความจริงผ่านการตีความเพื่อที่จะได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งและตัดสินใจเลือกปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

ส่วนหนึ่งจาก รวิช ตาแก้ว. (2557). ความหมายของคำ “ดีงาม” ในบริบทวัฒนธรรมไทย: การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธาน. วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต. มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา.

Leave a comment